ข่าวแฉกลปลูกป่าพื้นที่เสื่อมโทรม แต่กลับปลูกในป่าสมบูรณ์ - kachon.com

แฉกลปลูกป่าพื้นที่เสื่อมโทรม แต่กลับปลูกในป่าสมบูรณ์
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

จากกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ลุยตรวจสอบข้อเท็จจริง "โครงการปลูกป่าเพื่อลดปัญหาอุทกภัย และภาวะโลกร้อนในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน เฉลิมพระเกียรติฯ" เนื้อที่ 4,200 ไร่ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยใช้งบประมาณจากเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ 15,960,000 บาท ช่วงระหว่างปี 2555-2556 เบื้องต้น พบปลูกป่าจริง แต่ปลูกไม่ตรงตามแปลงที่ได้ขออนุมัติ อีกทั้งปลูกไม่ครอบคลุมพื้นที่ รวมทั้ง มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว 4 ราย เอกชน 3 ราย พนักงานสอบสวนดีเอสไอ จึงสรุปสำนวนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ส่งกำลังลงช่วยตรวจสอบเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เกาะติดรายงานสถานการณ์ เพื่อร่วมไขความจริง นำเสนอสังคมอย่างต่อเนื่อง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้รับรายงานขั้นตอนการขอ โครงการปลูกป่าฯ พบขั้นตอนว่า การเขียนขอโครงการปลูกป่า จะต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ ว่า สภาพพื้นที่ที่เขียนขอโครงการมานั้นมีสภาพเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ด้วยการสำรวจและรังวัดแนวเขต พร้อมลงค่าพิกัดแปลงปลูกและจะต้องมีตรวจสอบแปลงจากภาพถ่ายทางอากาศ จากพิกัดที่ส่งมา เพื่อทำการตรวจสอบว่าพื้นที่มีความเหมาะสมหรือไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่เสนอโครงการมา หรือมีจำนวนพื้นที่เหลือที่สามารถดำเนินการได้จำนวนเท่าไรโดยเฉพาะในการของบเงินรายได้จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โครงการที่ขอจะต้องเสนอผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรอง  ซึ่งมี ผอ.สำนักอุทยานฯ เป็นประธานและต้องได้รับความเห็นชอบและอนุมัติโครงการจาก อธิบดีกรมอุทยานฯ ก่อน


จากนั้นเมื่อโครงการอนุมัติแล้ว จะอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ซึ่งตามระเบียบแล้ว กล้าไม้ที่เพาะจะต้องมีความสูงประมาณ 30 ซม. และผ่านการทำให้กล้าไม้แกร่ง เพื่อทนต่อสภาพในการขนย้ายพันธุ์กล้าไม้ และสามารถทนต่อสภาพในขณะปลูกได้ส่วนวิธีการและขั้นตอนในการปลูกต้องทำการทำหลัก และปักหมายแนวจากนั้นขนกล้าไม้ การเตรียมการปลูกโดยขุดหลุม และนำพันธุ์กล้าไม้ลงไปวางจะมีแตกต่างเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เป็นเหง้า(กล้าสัก) ที่สามารถใช้วิธีการถอดถุง คือการฉีกถุงดำที่หุ้มต้นกล้าไม้แล้วนำไปใส่ยังหลุมที่เตรียมไว้ 

การปลูกตามหลักเกณฑ์ในการปลูกป่าของ กรมอุทยานฯ มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีคือปลูกแบบเต็มแปลง โดยการปลูกแบบเต็มพื้นที่ 1 ไร่จะใช้กล้าไม้  200 ต้น ราคาประมาณการจากสำนักงบประมาณไร่ละ 3,800 บาท  และวิธีการปลูกแบบเสริมหรือฟื้นฟู จะเป็นการปลูกแบบนำกล้าไม้เข้าไปปลูกเสริมจากพันธุ์ไม้ที่มีอยู่เดิมอยู่ในพื้นที่ โดยการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเดิมที่ยังไม่เป็นป่าเสื่อมโทรม 1 ไร่ จะใช้กล้าไม้ 25ต้น ราคาประมาณการจากสำนักงบประมาณ ไร่ละ 1,000 บาท หลังจากเสร็จสิ้นการปลูกแล้ว จะต้องดูแลรักษา บำรุงแปลงปีถัดไปอีก ในช่วง 2-6 ปี และ 7-10 ปี ต่อเนื่องกัน โดยมีแผนการบำรุงรักษา คือการซ่อมแซมทางตรวจการ ป้องกันไฟ การดายวัชพืช (ครั้งที่ 1) การดายวัชพืช (ครั้งที่ 2 ) การปลูกซ่อม และการริดกิ่ง


ทางทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์พบว่า โครงการปลูกป่าฯ โดยทั่วไปที่ผ่านมา ของกรมอุทยานฯ ดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติดังกล่าวมาเป็นปกติ โดยเฉพาะวิธีการปลูกป่า แบบเต็มแปลงนั้น พบว่าเป็นการปลูกในพื้นที่ที่มีบุกรุกพื้นที่ โดยมีสภาพพื้นที่เตียนโล่งหรือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (มีไม้ขนาดใหญ่ไม่เกิน 2 ต้นต่อไร่) ซึ่งในเนื้อที่ 1 ไร่จะต้องปลูกพันธุ์ไม้ 200 ต้น แต่สภาพป่าบริเวณแปลงปลูกป่าแก่งกระจานมีสภาพป่าสมบูรณ์เต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นการขอโครงการจึงคาดว่าส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีปลูกป่าแต่อย่างใดแม้ว่าบางจุดอาจจะมีบุกรุกบ้าง แต่ก็เป็นพื้นที่เล็กๆซึ่งป่าสามารถพื้นตัวเองได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลากไส้ขบวนการอั้วประมูล โครงการปลูกป่า4,200 ไร่
'คสช.'ฮึ่มสั่งสอบพิรุธ30วัน งบปลูกป่าแก่งกระจาน18ล้าน
ดีเอสไอ-ตชด.144เจอหลักฐาน ป้ายโครงการปักกลางป่า