ข่าวใช้ตะปูเย็บกระทงทำรากฟัน หมอชี้ชัดบาดทะยักเสี่ยงตาย - kachon.com

ใช้ตะปูเย็บกระทงทำรากฟัน หมอชี้ชัดบาดทะยักเสี่ยงตาย
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

เรียกว่าเป็นอุทาหรณ์เตือนอันตรายจากการรักษารากฟันเทียมเถื่อน หลังสมาชิกเฟซบุ๊กชื่อว่า @Wanlapar Wichaisakul โพสต์ภาพฟันแต่ละซี่ที่มีลวดเล็ก ๆ เสียบอยู่ ดูแล้วน่าสยดสยองอย่างยิ่ง พร้อมข้อความระบุว่า “จัดฟันแฟชั่นเถื่อนแล้ว อุดฟันเถื่อนแล้ว เจอปักรากเทียมเถื่อนหน่อยเป็นไง (พี่จะเอาตะปูปักกระทงมาแทนไทเทเนียมหมอไม่ได้)
 
โดยมีข้อความเพิ่มเติมว่า รากฟันเทียมที่ทดแทนรากฟันจริง ผลิตจากวัสดุ #ไทเทเนียม ซึ่งใช้ทางการแพทย์โดยทั่วไปที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อใช้ยึดติดกับกระดูกขากรรไกรของคนไข้ในตำแหน่งที่สูญเสียฟันและรากธรรมชาติไป โดยทำหน้าที่ทดแทนรากฟันธรรมชาติเพื่อรองรับทันตกรรมฟันปลอม (denture), ครอบฟัน (crown) หรือสะพานฟัน (bridge) ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด โพสต์เตือนทุกคนนะ เป็นเคสที่เกิดขึ้นจริง ๆ ของหมอท่านหนึ่งมาแชร์กันตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ถ้าภาพมันน่ากลัวเกินไป เราขอโทษด้วย
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้วันที่ 16 พ.ค. “เดลินิวส์ออนไลน์” สอบถามไปยัง ทพ.อำนวยศิลป์ ครุสันธิ์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ งานศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กลุ่มงานทัตกรรม รพ.ยโสธร อธิบายว่า ตนยังไม่เห็นภาพนั้น แต่ในบ้านเรามีการทำรากฟันเทียมเถื่อนอยู่จริง ซึ่งการทำรากฟันเทียม เพื่อทดแทนฟันที่หายไป มีกระบวนการก่อนที่จะนำมาใช้กับมนุษย์หลายขั้นตอนมาก ตั้งแต่ในห้องทดลอง ทดสอบกับเซลล์ ในสัตว์ รวมถึงวัสดุที่ใช้ต้องได้รับมาตรฐาน ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กว่าจะนำมาใช้จริงกับมนุษย์ โดยผลเสียที่จะตามมาจากการใช้ตะปูยึดในลักษณะนี้ อันดับแรก คือ 1.วัสดุไม่รู้มาจากไหน ความสะอาด เชื้อโรค ติดเชื้อบาดทะยักจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 2.เรื่องความสั้นและยาวของตะปู ที่อาจทะลุอวัยวะสำคัญได้ เพราะผู้ทำไม่มีความรู้ทางด้านลักษณะกายภาพในช่องปาก อาทิ ทะลุขากรรไกรล่าง ซึ่งจะมีเส้นประสาทใต้ลิ้น หรือทะลุโพรงอากาศด้านบนที่เรียกว่าไซนัส และ 3.การทำหัตการโดยไม่ใช่ทันตแพทย์ ผิดกฎหมายวิชาชีพอยู่แล้ว ในความจริงทำไม่ได้ ผิดหลักการรักษาด้วยประการทั้งปวง
 
"ในบ้านเรายังตระหนักรู้ไม่เพียงพอ เพจทำฟันเถื่อน จัดฟันแฟชั่นเยอะมาก ๆ หน่วยงานไล่จับกันอยู่แล้ว เพียงแต่เจ้าหน้าที่อาจจะมีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเพจพวกนี้ แม้จะมีหน่วยงานให้ข้อมูลและเเผยแพร่ความรู้ ผมเคยเจอคนไข้ไปทำฟันปลอมเถื่อนมาและใช้มาหลายปี มันทะลุเพดานปากไปถึงโพรงจมูก ก็ต้องเร่งผ่าตัดเย็บปิด ฉะนั้นการให้ความรู้แก่ประชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบและอันตรายที่อาจจะเสียชีวิตจากการหลงเชื่อของปลอมหรือหมอเถื่อนควรทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง" ทพ.อำนวยศิลป์ กล่าวเตือน.
 
ขอบคุณภาพ : @Wanlapar Wichaisakul