'กรมศิลป์'ท้าหาหลักฐาน 'เสาตะลุง'มีหัวบัวก่อนสมัย ร.5
ข่าวประจำวัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่เพนียดคล้อช้าง หมู่ที่ 3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะฝ่ายงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบความคืบหน้าการซ่อมแซมบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง และจุดที่มีประชาชนคัดค้านว่ามีการตัดหัวเสาตะลุงออกไป ภายหลังเปิดเผยว่า จากหลักฐานภาพถ่ายที่ทางศิลปากรได้มา ทำให้เห็นว่าเสาตะลุงด้านนอกสมัยรัชกาลที่ 4และ 5 ไม่มีหัวบัวหรือหัวทรงมัน จึงได้อนุมัติแบบการซ่อมแซมตามหลักฐานภาพถ่าย ส่วนการซ่อมแซมที่ผ่านมาหลังรัชกาลที่ 5 นั้น พ.ศ.2500 เป็นต้นมาไม่สามารถวิจารณ์หรือกล่าวถึงการซ่อมแซมได้ว่าใช้แบบอย่างไร และทำไมจึงไม่ทำตามแบบสมัย ร.4 ร.5 ซึ่งต้องยอมรับว่าการซ่อมทั้งสามครั้งโดยเฉพาะครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมานั้น เป็นช่วงที่ซ่อมทั้งหมดเป็นหัวบัวจริง แต่ไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น แต่ในการบูรณะครั้งนี้ได้ยึดตามหลักฐานที่มี หากทางประชาชนมีหลักฐานภาพถ่ายหรือข้อมูลระบุได้ว่าก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 นั้นเสาตะลุงมีหัวบัวหรือเป็นเสาทรงมัน ก็ขอให้มาแสดง ตนยินดีที่จะพิจารณาและรับฟัง
ด้านนายนิวัฒน์ อิศรางกูร ณอยุธยา ตัวแทนชมรมทำดีเพื่อแผ่นดินได้นำตัวแทนของชาวบ้านที่มาพบกับอธิบดีกรมศิลปากร ประกอบด้วยนายนพพร ขันธนิกร นายสายัณขันธนิกรและตัวแทนลูกหลานที่พ่อแม่ปู่ย่าเคยเป็นกรมช้างที่เพนียดได้ขอร้องให้กรมศิลปากรทบทวนการตัดหัวเสาตะลุงครั้งนี้โดยชาวบ้านยินดีที่จะไปหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยันว่า ก่อนหน้านั้นเสาตะลุงมีหัวทรงมันหรือหัวบัว เนื่องจากมีหลักฐานทางพงศาวดารและหนังสือเก่าอ้างอิงถึงลักษณะของเสาตะลุงที่มีหัวบัวเพื่อให้น้ำไหลลงและยังเป็นประโยชน์ต่อการผูกรั้งช้างขณะเข้าเพนียดได้ ซึ่งภาพที่มีการตัดหัวเสาตะลุงในครั้ง ร.4 หรือ ร 5 ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเสาที่ทำถูกต้อง เนื่องจากจะสังเกตว่าการซ่อมแซมเสาตะลุงทั้ง 3 ครั้งในเวลาต่อมามีหัวทรงบัวโดยเฉพาะการซ่อมในสมัย ร.9 มาทอดพระเนตรการคล้องช้าง ก็มีหัวบัวแสดงว่าทั้งสามครั้งอาจจะถูกก็ได้ จึงเห็นว่ากรมศิลปากรควรทบทวนและทำให้ชาวบ้านได้สืบทอดความรู้สึก
นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจากเกิดเรื่องตนได้มีการสอบถามไปยังอุทยานประวัติศาสตร์และกรมศิลปากร โดยนัดหมายเพื่อมาตรวจสอบ พูดคุยกับประชาชนให้เกิดความเข้าใจตรงกัน สิ่งที่ชี้แจงล้วนเป็นความรู้และเป็นเจตนาที่จะบูรณะตามรูปแบบ แต่การที่ชาวบ้านมาคัดค้าน ก็แสดงถึงความรักและหวงแหน ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายหาหลักฐานมาอ้างอิง เพื่อให้เกิดความถูกต้องที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สาปแช่งตัด'หัวเสาตะลุง' ผอ.ยันย้อนยุคอนุรักษ์ดั้งเดิม
ฮือต้านกรมศิลป์ตัดหัว'เสาตะลุง' สร้างไม่งามหวั่นอาเพศ