ข่าวฮือต้านกรมศิลป์ตัดหัว'เสาตะลุง' สร้างไม่งามหวั่นอาเพศ - kachon.com

ฮือต้านกรมศิลป์ตัดหัว'เสาตะลุง' สร้างไม่งามหวั่นอาเพศ
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทางสื่อโซเชียล หลังจากมีประชาชนทั่วไปได้แสดงความรู้สึกเกี่ยวกับการบูรณะเพนียดคล้องช้าง ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนายนัสซอ หรือมนัส เลิศศิริ อายุ 63 ปี อดีตช่างทำเสาตะลุง เปิดเผยว่ามีความไม่ชอบมาพากล พบว่าเสาตะลุงมีลักษณะปลายเสาด้วน ไม่เหมือนเมื่อครั้งอดีตที่หัวเสาตะลุงจะมีดุมคล้ายดอกบัว อันเป็นวิธีการที่ไม่ให้น้ำท่วมขังจากยอดเสา ทำให้รักษาเนื้อไม้วิธีหนึ่ง อีกทั้งนายมนัส ได้มีโอกาสได้กลึงหัวเสาตะลุงครั้งที่มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ ซึ่งการซ่อมแซมครั้งนั้น ก็เป็นการซ่อมแซมตามรูปแบบเดิม และเห็นว่ามีลักษณะของเสาตะลุงที่มีหัวดุมอยู่แล้ว โดยเห็นมาตั้งแต่จำความได้ ขณะที่ประชาชนและคนเฒ่าคนแก่ทั่วไป ก็ยืนยันว่า ได้เห็นเสาตะลุงมีหัวดุมคล้ายดอกบัวมาตั้งแต่เกิดเช่นกัน 

หลังจากมีการนำเสนอเรื่องราวผ่านทางโซเชียล ทำให้เกิดกระแสคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการตัดหัวเสาตะลุงออกจากของเดิม เป็นการทำลายความรู้สึกของผู้ที่เคยพบเห็นมาตั้งแต่อดีต จึงเรียกร้องให้ทางศิลปากรผู้รับผิดชอบได้ทบทวนการซ่อมเสาตะลุง โดยชาวบ้านที่อยู่รอบเพนียดคล้องช้าง เตรียมที่จะรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้กรมศิลปากรทำเสาตะลุงเหมือนเดิม


ด้าน น.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ออกมายืนยันว่ากรมศิลปกรได้ออกแบบก่อสร้างตามแบบโบราณ โดยค้นหาหลักฐานเสาตะลุงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีภาพหลักฐานพบว่าเสาตะลุงปีกกาด้านนอก เป็นเสาไม้ธรรมดาหัวตัด ไม่ได้กลึงกลมทรงมัณฑ์ตามที่ชาวบ้านเข้าใจ แต่ไม่ทราบว่าที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เมื่อกรมศิลปกรทำการบูรณะใหม่ครั้งนี้ต้องการอนุรักษ์รูปแบบเดิมให้มากที่สุดเสาตะลุงปีกกาจึงต้องตัดหัวอย่างที่เห็น ส่วนเสาตะลุงด้านในยังคงเป็นเสากลึงกลมทรงมัณฑ์ ซึ่งการก่อสร้างคงจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้กรมศิลปกรมีหลักฐานยืนยันว่าทำถูกต้อง แต่อาจจะไม่คุ้นตาชาวบ้านจึงออกมาตำหนิดังกล่าว ส่วนราคาหรืองบประมาณก่อสร้างที่สูงกว่าทุกครั้งมาจากราคาค่าวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะไม้มีราคาสูงกว่าสมัยก่อน และที่สำคัญเสาตะลุงที่ซ่อมแซมครังเก่าเป็นไม้ไม่มีคุณภาพ ส่วนที่ซ่อมใหม่ครั้งนี้เป็นไม้แดงที่มีราคาสูงคุณภาพดี จึงทำให้งบประมาณซ่อมครั้งนี้สูง เพราะฉนั้นการซ่อมแซมไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขอให้ชาวบ้านเข้าใจ

 
ขณะที่ เวปไซด์ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเอง ยังปรากฎภาพของเพนียดคล้องช้างในภาพของเสาตะลุงที่มีหัวดุมในปัจจุบัน โดยประชาชนส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่าหากเสาตะลุงไม่มีหัวจริง ทำไมจึงได้ซ่อมแซมให้มีหัวดุมในเวลาต่อมา จนกระทั่งประชาชนจำภาพของเสาตะลุงที่มีหัวดุม อีกทั้งยังพบว่าภาพเก่า ๆ ที่ค้นพบส่วนใหญ่ก็จะมีหัวดุมที่เสาตะลุงเป็นส่วนใหญ่ การตัดหัวดุมออกไป เป็นเสาหัวตัดก็จะเป็นภาพของเพนียดที่ไม่เหลือความทรงจำเก่า ๆ จึงเรียกร้องให้ทบทวน ด้านนายปฎิพัฒน์ พุ่มพวงแพทย์ อดีตรองผู้อำนวยการศิลปากรที่ 3 ก็โพสต์ข้อความไม่สบายใจที่เสาตะลุงไม่มีหัวด้วย 


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังตั้งข้อสังเกตว่า การซ่อมแซมเพนียดยังพบพิรุธหลายอย่างนอกจากกรมศิลปกรออกแบบก่อสร้างผิดไปจากเดิมแล้ว ยังพบว่านำเสาตะลุงเก่าที่สมบูรณ์จำนวนมากนำมาตัดหัวกลึงกลมทรงมัณฑ์ออกทิ้งและนำไปตั้งซ่อมแซมร่วมกับเสาตะลุงที่เปลี่ยนใหม่ถูกตัดหัว อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ และทราบว่างบประมาณการซ่อมแซมครั้งนี้ใช้ยอดงบประมาณสูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาที่มีการบูรณะซ่อมแซมเพนียดคล้องช้าง ซึ่งครั้งสุดท้ายซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ.2550 ใช้งบประมาณเพียง 16 ล้านบาทเท่านั้น แต่ครั้งนี้กรมศิลปกรใช้งบประมาณมากกว่า 30 ล้านบาทเข้ามาซ่อมแซม ซึ่งมากกว่าครั้งที่ผ่านมาเป็นเก่าตัว  อย่างไรก็ตามชาวบ้านเองก็ยังหวั่นเกรงที่กรมศิลปกรออกแบบซ่อมแซมเสาตะลุง เพนียดคล้องช้างหัวกุด ดูไม่สง่างาม เกรงจะเป็นอาเพศรางร้ายไม่ดีกับบ้านเมือง ขอให้กรมศิลปกรทบทวนเปลียนแบบซ่อมแซมเสาตะลุงปีกกาให้กลับมาเหมือนเดิม ให้เป็นเสาตะลุงยอดปลายเสากลึงกลมทรงมัณฑ์ เหมือนเดิม หากกรมศิลปกรยังคงดื้อไม่เชื่อชาวบ้านและยังจะก่อสร้างต่อชาวบ้านคงจะต้องรวมตัวออกมาเคลื่อนไหวให้กรมศิลปกรออกมาทบทวนใหม่ต่อไป.



ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเว็บไซต์ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา