'ถาวร'ชี้ยางพาราไทยตกต่ำ รัฐฯเข้าไม่ถึงกลไกตลาด
ข่าวประจำวัน
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ สส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหายางพาราไทย ว่า ในเดือน พ.ค.นี้ ผลผลิตยางฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มเข้าสู่ตลาด หากรัฐบาลไม่คิดอ่านไว้แต่เนิ่นๆ ปัญหาเดิมๆ ก็จะกลับเข้ามาอีก เรื่องนี้ตนเคยเรียกร้องและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลได้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาความยากลำบากของพี่น้องชาวสวนยางมาตลอด ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องชาวสวนยางพารา แต่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบของรัฐบาลน้อยมาก
นายถาวร กล่าวต่อว่า ปัญหารายได้จากยางพาราของชาวสวนยางตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เข้ามาดูแลประเทศ ยังไม่สามารถแก้ไขให้รายได้ของชาวสวนยางพารากระเตื้องขึ้นในระดับที่ดีขึ้นได้ เนื่องมาจากราคายางที่ตกต่ำส่งผลถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่เพียงพอกับการครองชีพในปัจจุบันได้ เพราะราคายางพาราต่ำกว่าต้นทุน ปลายปี 2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามเสนอมาตราการต่างๆ เพื่อยกระดับราคายางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ใกล้เคียงกับต้นทุน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้ได้ มีการเร่งรัดให้หน่วยงานราชการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นเพื่อลดอุปทานของยางภายในประเทศ เช่น โครงการถนนยางพาราทั้งในลักษณะถนนยางพาราดินซีเมนต์ ถนนยางมะตอยผสม ยางพาราชนิดผสมร้อน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรี่องที่ดี แต่เนื่องจากผู้ควบคุมการใช้งบประมาณเป็นหน่วยงานที่สังกัดต่างกระทรวงกันกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาราคายางพาราของประเทศ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เป็นกระแสความหวือหวา ความคาดหวังของเกษตรกรเกิดขึ้นมาในช่วงที่นายกฯ ประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างเข้มแข็งเอาจริงเอาจังช่วงแรกๆ เท่านั้น ระยะต่อมาจึงเริ่มเลือนลางจางหายไปในที่สุด ส่งผลต่อเป้าหมายและความคาดหวังการใช้ยางที่วางไว้ให้มีการยกระดับราคายางขึ้นได้ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
นายถาวร กล่าวอีกว่า จากสภาพปัญหาและข้อเท็จจริง ราคายางพาราไม่ได้กระเตื้องขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังไว้ให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ลืมตาอ้าปากได้ดังที่เป็นอยู่ ในปัจจุบันการดำเนินการของภาครัฐไม่ประสบผลสำเร็จในการยกระดับราคายางพารา เนื่องจากไทยไม่สามารถเข้าไปควบคุมปริมาณยางพาราที่แต่ละประเทศผลิตโดยกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในองค์กรยางพาราได้ ขาดการติดตามประเมินผลการนำนโยบายของรัฐบาล จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในที่นี้หมายถึงการยางแห่งประเทศไทย รัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงกลไกตลาดยางพาราอย่างแท้จริง มีเพียงผู้ประกอบการไม่กี่รายเข้ามามีอิทธิพลเหนือตลาด โดยใช้กลไกตลาดแบบผูกขาดเข้าควบคุมทั้งตลาดซื้อขายจริง ปัจจุบัน (Physical market) และตลาดล่วงหน้า (futures market) รวมทั้งการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวในลักษณะเอาเกษตรกรเป็นตัวประกัน มีการเสนอขายในราคาที่ต่ำ ซึ่งเป็นผลจากการแย่งส่วนแบ่งการตลาดกันเองแล้วมากำหนดราคาซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยางพาราต่อไปด้วย รวมทั้งขาดความฉลาดและด้อยประสิทธิภาพในการหาความร่วมมือ และเป็นผู้นำเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์กรยางพาราระหว่างประเทศในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด อาทิ เช่น ITRC ถูกชี้นำโดยบางประเทศเลือกใช้มาตรการแก้ปัญหา เฉพาะในส่วนที่ประเทศตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดปริมาณยางในตลาด เป็นการลดอุปทาน รัฐบาลต้องตั้งงบกลางอย่างน้อย 20,000 ล้านบาท สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ และงบกลาง 20,000 ล้านบาท สำหรับโครงการถนนยางพาราผสมยางมะตอยให้เร็วที่สุด.