ข่าว ''อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก-ฝายซับตะกอง''สร้างพื้นที่น้ำมั่นคง - kachon.com

''อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก-ฝายซับตะกอง''สร้างพื้นที่น้ำมั่นคง
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s



นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสระบุรีในครั้งนี้เพื่อส่งมอบโครงการก่อสร้างฝายที่บ้านซับตะกอง ตำบลลำพญากลาง ซึ่งเป็นฝายที่กรมชลประทานจัดสรรงบประมาณปี2561เพื่อก่อสร้างฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมระบบส่งน้ำ ความสูง 3.50 เมตร ยาว 34 เมตร ระบบคลองด้านหน้าฝายระยะทางประมาณ 1.50 กิโลเมตร


ฝายนี้สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นชาวไร่อ้อยมากกว่า300ครัวเรือน ก่อนหน้านี้ไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกเป็นอย่างมาก การสร้างฝายซับตะกองใช้เทคโนโลยีAgri-mapเพื่อออกแบบระบบส่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นฝายที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยมีการส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบลลำพญากลางเป็นผู้ดูแล


นอกจากนี้ยังติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ซึ่งเป็นเขื่อนดินแบ่งโซน มีระบบส่งน้ำเป็นระบบท่อฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ปัจจุบันก่อสร้างท่อฝั่งขวาแล้วเสร็จและใช้เก็บน้ำสำหรับพื้นที่5,500ไร่ได้แล้ว ส่วนท่อฝั่งซ้ายคาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2562 นี้


“การก่อสร้างฝายซับตะกอง วันนี้เสร็จแล้ว ได้ส่งให้กับอบต.ดูแลต่อ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจากที่พบ ในพื้นที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำแล้ว เป็นการเตรียมพร้อมในการดูแลฝายนี้ด้วยตัวเอง ส่วนอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กนั้น ทั้งระบบส่งน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์จะแล้วเสร็จราวปลายปีนี้ ซึ่งอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กเก็บน้ำได้ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ถึง25,500 ไร่” นายทองเปลวระบุ


นายกฤษ ชมวิจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่8 บ้านดงน้ำฉ่า กล่าวว่า ต.คำพรานเป็นพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ในฤดูแล้งฝนทิ้งช่วงเกษตรกรจะประสบปัญหาผลผลิตไม่ดีเพราะขาดน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กของกรมชลประทาน จึงทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ช่วยลดต้นทุนและมีแหล่งน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน


โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กเป็นเขื่อนดินแบ่งโซน เก็บกักน้ำได้ประมาณ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ในต.คำพราน อ.วังม่วง จ.สระบุรี ที่อยู่นอกเขตชลประทานโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำกินใช้ ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง แม้เป็นพื้นที่ติดกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่กลับไม่สามารถใช้น้ำจากเขื่อนได้ เพราะข้อจำกัดของภูมิประเทศที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำในเขื่อนมาก หากส่งน้ำจากเขื่อนต้องลงทุนสูงและไม่คุ้มค่า //กรมชลประทานจึงออกแบบระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กเป็นระบบท่อฝั่งขวาฝั่งซ้ายและพัฒนาห้วยมวกเหล็ก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก ไว้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ


โดยอ่างมวกเหล็กจะใช้เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาปีละ 202,000 ลูกบาศก์เมตร //ช่วงแล้งช่วยเสริมน้ำให้โครงการสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมออีก14,000 ไร่ //เป็นแหล่งน้ำใช้เพาะปลูก ปศุสัตว์ อุปโภค-บริโภคทำประมง // ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มเจ้าพระยาบางส่วน ทั้งยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อีกด้วย