น้อมนำรับสั่งรัชกาลที่ 10 เร่งทำแหล่งน้ำช่วยเกษตรกร
ข่าวประจำวัน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้น้อมนำพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 จำนวน 3,245 โครงการ ปัจจุบันดำเนินงานแล้วเสร็จ 3,143 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 102 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดทำแหล่งน้ำ 116 โครงการ กระจายอยู่ทั่วประเทศซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 73 โครงการ เป็นอ่างเก็บน้ำ ฝาย และอาคารสูบน้ำ รวมปริมาณกักเก็บน้ำทั้งหมด 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้เกษตรกรใช้เป็นประโยชน์ได้มากถึง 4.9 หมื่นไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 หมื่นครัวเรือน สำหรับโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 26 โครงการ จะแล้วเสร็จในปี 2562นี้ ส่วนอีก 17 โครงการจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 เป็นต้นไป
สำหรับโครงการในพระราชดำริทั้ง 116 โครงการ ที่มีการดำเนินงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44 โครงการ ภาคใต้ 42 โครงการ ภาคเหนือ 21 โครงการ และภาคกลาง 9 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายในพื้นที่ต้นน้ำบนที่ราบสูงหรือยอดดอย ซึ่งมีปัญหาการหาน้ำต้นทุนเพื่อทำการเกษตรในหลายจังหวัดได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สกลนคร นครพนม เลย เป็นต้น
กรมชลประทานจึงลงพื้นที่สำรวจ รวมทั้งหาวิธีที่เหมาะสมในการจัดหาน้ำเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน ภายใต้การทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ตั้งงบประมาณ แล้วดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
“น้ำคือชีวิตอย่างแท้จริง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำฯ ของพระองค์ มีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ทั้งช่วยเหล่าเกษตรกรที่ทำนาและเพาะปลูกให้มีน้ำที่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงผลผลิต รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายทองเปลว ระบุ
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการงานพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยบำรุงรักษาระบบคลองส่งน้ำตัวเขื่อน ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ และนำรูปแบบโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ อ่างพวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีการใช้น้ำร่วมกันหลายพื้นที่ นำไปต่อยอดเป็นแนวทางในอ่างเก็บน้ำพื้นที่อื่น เพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดการน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สมดังพระบรมราโชบาย รักษา สืบสาน ต่อยอด ซึ่งกรมชลประทานจะยึดมั่น และดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดไป.