ปรับปฏิทิน-ทำแก้มลิง แก้ท่วมซ้ำซากลุ่มปราจีน
ข่าวประจำวัน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำ ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่วันที่20พฤษภาคม 2562 ไปจนถึงสิ้นสุดฤดูฝนในเดือนตุลาคมนี้ ว่า การทำงานยังเป็นไปตามแผน โดยเฉพาะการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอย่างน้อย 2- 3 เดือน เพราะตอนนี้มีน้ำเริ่มไหลเข้ามาบ้างแล้วในหลายเขื่อนของประเทศ จากฝนที่ตกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่นต่อเนื่องถึง จ. กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ฯ ประมาณ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าเริ่มมีน้ำเข้ามาช่วงต้นฤดูฝนและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในหลายพื้นที่
กรมชลประทานวางแผนการบริหารจัดการน้ำใน 2 เรื่อง ในแผนแรกเป็น การบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงต่อความเสียหายจากน้ำท่วมขัง เช่น บางระกำ ที่เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันปลูกไปแล้วมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ 3.82 แสนไร่ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มเจ้าพระยา 1.15 ล้านไร่ ตอนนี้เพาะปลูกได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่ดอนซึ่งเริ่มทำนาเช่นกันแล้วโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทางกรมชลประทานเข้าไปช่วยดูแลด้วยการเสริมน้ำระหว่างฝนขาดช่วง
“ปริมาณน้ำฝนใน ฤดูฝนปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ กรมชลประทานวางแผนรับมือในช่วงเวลาที่ไม่มีฝนหรือฝนทิ้งระหว่างปลายเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อจัดส่งน้ำจากเขื่อนไปช่วยเสริมเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย จากนั้นเขื่อนจะเริ่มกักเก็บน้ำในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนซึ่งมีฝนตกหนัก ส่วนฤดูเก็บเกี่ยวจะเริ่มในช่วงกลางเดือนตุลาคม” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
อีกแผนหนึ่งเป็น การบริหารจัดการน้ำในกรณีที่เกิดอุทกภัยช่วงฝนตกหนัก ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน กรมชลประทานเตรียมวางแผนรับมือด้วยการประเมินพื้นที่เสี่ยง พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องมือต่างๆ และการเตรียมความพร้อมของเขื่อนให้มีความมั่นคง โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการประกาศใช้ เกณฑ์ปฏิบัติการกักเก็บน้ำใหม่ (Rule Curves) กับเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 412 แห่ง เนื่องจากเกณฑ์ปฏิบัติการเดิม ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยฐานข้อมูลช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่พร่องน้ำมากและมีน้ำไหลเข้าน้อยจึงเก็บน้ำได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง แต่ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องปรับ เกณฑ์ปฏิบัติการ เพื่อการสำรองน้ำให้มากพอตามแผนดำเนินการ
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังวางแผนเพิ่มพื้นที่ที่จะปรับปฏิทินเพาะปลูกในลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำบางปะกงเพื่อบรรเทาความเสียหายให้กับเกษตรกรและชาวเมืองปราจีนบุรี โดยหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อดักซับน้ำไว้ก่อนที่จะไหลผ่านเมือง เลียนแบบความสำเร็จจากทุ่งบางระกำและลุ่มเจ้าพระยา ในเบื้องต้นกรมชลประทานเล็งทำแก้มลิงที่ ทุ่งบางพลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 4.34 แสนไร่ และมีความเหมาะสมประมาณ 2 แสนไร่ ในปี 2563 จะเริ่มนำร่องก่อน 2 หมื่นไร่ คาดว่าเก็บน้ำได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร หากประสบความสำเร็จจะขยายผลต่อไป
การปรับปฏิทินเพื่อบริหารจัดการน้ำใหม่ จะลดปัญหาน้ำท่วมเมืองปราจีนบุรี เพราะน้ำส่วนใหญ่จะถูกดักไว้ที่แก้มลิง เพื่อรอเวลาระบายออกสู่แม่น้ำบางปะกงภายหลัง.