ข่าวเคาะ10ตำรับยากัญชา ย้ำ"หมอพื้นบ้าน"ต้องยื่นขอ - kachon.com

เคาะ10ตำรับยากัญชา ย้ำ"หมอพื้นบ้าน"ต้องยื่นขอ
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 27  พ.ค. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่สวิสเซอร์แลนด์ นิยามของกัญชา ยังเหมือนเดิม คือ ถือเป็นยาเสพติด แต่สารสกัดกัญชาทีเอชซี (THC) ที่มีฤทธิ์เป็นสารเสพติดนั้น หากมีต่ำกว่า 0.2 % ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ โดยในต่างประเทศนั้น การใช้กัญชารักษาโรค ต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อสามารถติดตามผู้ป่วย และป้องกันได้รับผลกระทบจากฤทธิ์ของกัญชา ส่วนกรณีที่ขณะนี้ เริ่มผลข้างเคียงของคนลองใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ และพบว่า มีคนป่วยแห่ไปรับการรักษาที่ รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบ เพราะทุกอย่างต้องทำตามระเบียบว่า แพทย์ที่สั่งจ่ายผ่านการอบรมกับกรมการแพทย์ และขึ้นทะเบียนกับอย.หรือไม่ และในการสั่งใช้กัญชาต้องเน้นเรื่องของความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ด้าน นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมและการใช้ยาแผนไทย ที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสมอยู่ในหน่วยงานของรัฐและเอกชน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯครั้งล่าสุด ได้จัดทำร่างเกณฑ์การพิจารณารับรองตำรับยาปรุงเฉพาะรายที่มีกัญชาปรุงผสมของหมอพื้นบ้าน เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ที่มีอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก พิจารณา ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการยาเสพติดพิจารณาต่อไป

นพ.ขวัญชัย กล่าวต่อว่า สำหรับร่างฯดังกล่าว มี 5 ข้อคือ 1.เป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา 2.มีแหล่งความรู้ที่อ้างอิงหรือมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การตั้งสูตรตำรับและกรรมวิธีการปรุงยา ตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยหรืออื่นๆ เช่น ตำรา คัมภีร์ ครูหมอ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควร 3.มีประสบการณ์ในการใช้ตำรับยาผสมกัญชาและพึงมีหลักฐานที่แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย 4.ควรพิจารณาตำรายาสมุนไพรที่เป็นวัตถุอันตรายตามเกณฑ์แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย และ 5.หลักเกณฑ์อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควร

นพ.ขวัญชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาอนุญาตตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาเพิ่มเติมจากที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ มีผู้ส่งตำรับยามาให้กรรมการฯ พิจารณาทั้งสิ้น 59 ตำรับ จาก 22 จังหวัด พิจารณาแล้วเสร็จไป 15 ตำรับ ผ่านการพิจารณา 10 ตำรับ ส่วนอีก 5 ตำรับที่ไม่ผ่าน เพราะยังขาดข้อมูลบางอย่าง แต่ได้ประสานให้ส่งข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติมแล้ว ส่วนตำรับที่เหลือ จะพิจารณาอีกครั้งวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้สำหรับตำหรับยาที่ผ่านการพิจารณาแล้ว เช่น ตำรับยาตัดราก ตำรับยาแก้สารพัดโรค แก้โรคเรื้อนกวาง ริดสีดวง ลำไส้ ตำรับยาแก้ลูกหมากปวดบวม เป็นต้น  ในจำนวนตำรับยาที่ผ่านการพิจารณานั้น ไม่มีตำรับใดที่พูดถึงการรักษาโรคมะเร็งโดยตรง แต่กรณีต้องเรียนว่า คำว่ามะเร็งในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน กับแพทย์พื้นบ้านนั้น เรียกแตกต่างกัน แพทย์พื้นบ้านจะใช้คำว่า น้ำเหลืองเสีย ฝี ซึ่งเมื่อดูแล้ว มีตำรับที่พูดถึงคำเหล่านี้เช่นกัน โดยขอย้ำว่า ตำรับยาที่ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น เป็นตำรับยาปรุงเฉพาะราย ผู้ใช้ได้คือหมอพื้นบ้านที่ยื่นตำรับนั้นมา ส่วนผู้อื่นที่จะเอาตำรับนั้นไปใช้ ต้องเป็นในลักษณะของการวิจัย.