ข่าว'ฮิโนกิแลนด์'วุ่นไม่จบ ปกครอง-หอการค้ามองคนละมุม - kachon.com

'ฮิโนกิแลนด์'วุ่นไม่จบ ปกครอง-หอการค้ามองคนละมุม
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

จากกรณี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ประกาศผลการคัดเลือก 10 แหล่งวัฒนธรรมต้องไป ที่มีการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดและสร้างสรรค์ 10 รายการ โดย 1 ใน 10 รายชื่อสถานที่ ที่มีข้อกังขา คือ "ฮิโนกิแลนด์" จ.เชียงใหม่ ที่ภาคเอกชนได้จำลองสถานที่ท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาไว้ที่อำเภอไชยปราการ โดยกระแสโซเชียลออกมาคัดค้านเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้สะท้อนวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายอนวัช สัตตบุศย์ นายอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ความเห็นส่วนตัวคิดว่า สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ที่คนไทยอุดหนุนคนไทยด้วยกัน ซึ่งอยากให้มีแหล่งท่องเที่ยวลักษณะคล้าย ๆ แบบนี้จังหวัดละ 1 แห่ง เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในจังหวัด ซึ่งในพื้นที่อำเภอไชยปราการ ตั้งแต่มีฮิโนกิแลนด์ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอไชยปราการและอำเภอใกล้เคียงดีขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากที่ชาวบ้านมีรายได้จากการจ้างงานของฮิโนกิแลนด์ ที่ได้จ้างให้ทำหมอนเพื่อสุขภาพ ซึ่งชาวบ้านสามารถทำที่บ้านได้และทางฮิโนกิแลนด์จะมารับ รวมถึงมีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่ตั้งอยู่ในฮิโนกิแลนด์ ก็มาจากชาวบ้าน มีการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกในพื้นที่โดยรอบ ก็มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากขึ้น ห้องพักและโรงแรมต่าง ๆ ก็เต็ม โดยภาพรวมถือว่าดีในด้านการท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเติบโตอย่างมาก  สำหรับในแง่ของวัฒนธรรม ก็ไม่ทราบรายละเอียดมากนักว่ามีการคัดเลือกอย่างไร จึงไม่สามารถตอบในเรื่องนี้ได้มาก แต่สถานที่แห่งนี้ก็ยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ที่กระจายรายได้สู่ชุมชนและจังหวัดเชียงใหม่ได้


ด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ฮิโนกิแลนด์ พึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2561 ซึ่งเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ภาพรวมตั้งแต่ประตูด้านหน้าทางเข้าจนถึงด้านใน ก็เห็นแล้วว่าเป็นสไตล์แบบญี่ปุ่นที่ชัดเจน ไม่มีอัตลักษณ์ใดที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่เลย ซึ่งการคัดเลือกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ควรเลือกสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่อย่างแท้จริง เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้เข้าไปท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าใจถึงจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างแท้จริง อย่างเช่น กรณีของจังหวัดเชียงราย ที่เลือกดอยตุง เป็นสถานที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งดอยตุงถือว่าเป็นสิ่งที่เคารพของคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนเชียงราย แต่หลาย ๆ คนในภาคเหนือก็เคารพ มีวัด มีประเพณีและวัฒนธรรมที่มีมานานและเห็นได้เด่นชัด เหมาะสม แต่เมื่อเทียบกับของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว พบว่าสถานที่ของจังหวัดเชียงใหม่ควรเลือกสถานที่เหมาะสมเหมือนกับดอยตุง ของจังหวัดเชียงราย ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่จริง ๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง