หมอชี้'ติดเกม'เป็นโรคจิตเวช พ่อแม่หมั่นดูพฤติกรรมลูก
ข่าวประจำวัน
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิด จัดเสวนาเรื่อง Healthy Gamer วัยแสบสาแหรกจะไม่ขาด “สังเกต เรียนรู้ เราควบคุมได้” นำโดย รศ. นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ ทีมผู้จัดละครและนักแสดงจากละคร เรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาดโครงการ 2” เอิน-ณิธิภัทร เอื้อวัฒนสกุล ผู้จัดละคร และ 2 นักแสดง ยอร์ช-ยงศิลป์ วงศ์พนิตนนท์ และ เก่ง-ชัชวาล เพชรวิศิษฐ์
โดย "เอิน ณิธิภัทร" กว่าวว่า ในละครนั้นจะเห็นได้ว่าอาการของเด็กติดเกมในละครวัยแสบ สาแหรกขาดนั้น ความรุนแรงของเด็กทำร้ายคนรอบข้าง เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าการที่น้องๆ ติดเกมนั้นเป็นเรื่องที่จะทำร้ายพ่อแม่ แต่ในชีวิตจริงนั้นร้ายแรงมากกว่านี้ ทั้งจากข่าวที่เห็น รวมไปถึงเคสที่เราได้ปรึกษาคุณหมอ โดยการทำบทละครในเรื่องนี้ เราต้องปรึกษากับทางแพทย์ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้ชมได้อย่างถูกต้อง จึงอยากฝากถึงพ่อแม่ช่วยกันสังเกต เพราะเป็นปัญหาจริงๆ บางคนอาจจะมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แต่อยากให้ระลึกไว้ว่าพวกเขาเป็นอนาคตของชาติที่เราควรต้องตระหนักในเรื่องนี้ โดยสามารถเข้าไปศึกษาและขอคำแนะนำได้ในเว็บไซต์ www.healthygamer.net
ด้าน รศ. นพ.ชาญวิทย์ เผยว่า ส่วนใหญ่เด็กที่เล่นเกมจะมี 4 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มแรกเป็นการเล่นเพื่อคลายเครียดเท่านั้น กลุ่มที่ 2 คือเล่นเพื่อความสนุกสนานในยามว่าง กลุ่มที่ 3 เล่นเกมเพื่อให้มีสังคม มีเพื่อน และกลุ่มสุดท้ายคือ เล่นเพื่อปลดปล่อย แต่บางคนเล่นไปจนถึงทำให้ลืมความทุกข์ โดย 2 กลุ่มแรกนั้น เรายังไม่ถือว่าติดเกมเพราะสามารถเลิกได้ แต่กลุ่มสุดท้ายนั้นน่าเป็นห่วง เพราะเขาจะเข้าไปอยู่ในอีกโลกเพื่อทำให้ลืมโลกรอบข้าง
สำหรับวิธีสังเกตอาการของเด็กติดเกมนั้น ทาง "องค์การอนามัยโลก" ได้นิยามไว้ว่า "โรคติดเกม" เป็นโรคทางจิตเวช พร้อมให้เกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับอาการติดเกมไว้ว่า เริ่มที่การหมกมุ่นสนใจแต่เกม ควบคุมตัวเองไม่ได้อยากเล่นต่อไปเรื่อยๆ ฝืนเล่นต่อทั้งๆ ที่ทราบว่าชีวิตจะพังแล้ว ซึ่งถ้ามีทั้ง 3 ข้อนี้จะถือว่าเป็นเด็กติดเกม โดยเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่ จะเริ่มสังเกตอาการของลูกๆ ได้จากการใช้เวลาของเขาที่เริ่มหมดไปกับการเล่นเกม อารมณ์เด็กๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป โต้เถียง ก้าวร้าว แยกตัวเองมากขึ้น การคบกลุ่มเพื่อนเริ่มเปลี่ยนไป จากเพื่อนในชีวิตจริง ก็มาเป็นเพื่อนในโลกออนไลน์แทน
นอกจากพฤติกรรมของเด็กๆ ที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคติดเกมแล้ว ด้านพฤติกรรมของพ่อแม่ก็เป็นส่วนส่งเสริมให้ลูกติดเกมได้เช่นกัน ทั้งการที่อ้างว่าตนเองงานเยอะมากเกินไป ไม่มีเวลาสนใจลูก การมองแต่ด้านบวกของเกม กลัวว่าลูกจะตกเทรนด์โดยที่ขาดการสร้างกรอบระเบียบให้ลูก พ่อแม่ที่ใจอ่อน เมื่อลูกอ้อนก็ยินยอม กลัวว่าลูกจะโกรธ ไม่รัก ถ้าลูกขึ้นเสียงใส่แล้วลูกจะบาป จึงมักมอบเกมและตามใจเพื่อซื้อใจลูก รวมไปถึงการที่พ่อแม่แยกทางกันแล้วมาทะเลาะกันเองต่อหน้าลูก และพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของลูก ที่เมื่อถึงบ้านก็ก้มหน้าก้มตาเล่นแต่โทรศัพท์ เล่นเกมเองแต่ไม่สุงสิง ชวนลูกเล่นเกมด้วยเพื่อสอนเขาไปในตัว
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อแนะนำในการดูแล หากเด็กเริ่มรู้ว่าเริ่มเล่นมากเกินไป เคยทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งไปเที่ยวกับเพื่อน ออกกำลังกาย การเรียนเริ่มตก คนรอบข้างเริ่มทักว่าติดเกม ตรงนี้ควรเป็นเรื่องที่เริ่มรู้ตัวว่าเริ่มติดเกมแล้ว ซึ่งจำนวนในการเล่นไม่ได้เป็นตัวชี้วัด หากเขาสามารถจัดสรรเวลาได้ รวมไปถึงสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีความแน่นแฟ้น ก็ไม่ถือว่าติดเกม แต่ความเหมาะสมในการเล่นเกมนั้น ในวันธรรมดาไม่ควรเกิน 1 ชม. วันหยุดไม่คนเกิน 2 ชม. บนเงื่อนไขที่ทำการบ้าน ออกกำลังกาย ทำงานบ้านตามที่ผู้ปกครองมอบหมาย แล้วจึงจะสามารถไปเล่นเกมในเวลาว่างจริงๆ เท่านั้น ส่วนช่วงอายุของผู้เล่นนั้น ต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรเล่นเลย , 2-6 ขวบ ควรเล่นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น , 6-13 ปี ควรเล่นไม่เกิน 1 ชม. โดยมีผู้ปกครองร่วมสังเกตด้วย ส่วนอายุ 13 ปีขึ้นไปเริ่มให้อิสระในการใช้แต่ควรมีลิมิตไม่เกิน 2 ชม./วัน ส่วนช่วงวัยที่สามารถเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตได้นั้นอยู่ในช่วงอายุ 20-25 ปีเท่านั้น หากหลังจากนี้แล้วร่างกายทั้งจอประสาทตาและความว่องไวจะเริ่มเสื่อมถอยลงอีกด้วย.