ข่าวไอเดีย'ป้ายจำคุก'ในรพ. สร้างความตระหนักรู้โทษตีกัน - kachon.com

ไอเดีย'ป้ายจำคุก'ในรพ. สร้างความตระหนักรู้โทษตีกัน
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีเสวนาเพื่อหาแนวทางป้องกันแบบบูรณาการเรื่อง “ปัญหาความรุนแรงในห้องฉุกเฉินและแนวทางแก้ไข” หวังคลอดมาตรการคุ้มครองและมิให้เกิดความรุนแรงดังกล่าวบริเวณในโรงพยาบาลขึ้นอีกต่อไป

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปี 62 ที่ผ่านมา พบเหตุทะเลาะวิวาทมากถึง 5 ครั้งที่ปรากฏตามข่าว ซึ่งสร้างความเสียหายหลายด้าน แต่เรื่องดีคือทำให้สังคมตื่นรู้และหาทางออกร่วมกัน ซึ่งตนได้สั่งการไปว่าไม่ได้จบที่การมอบกระเช้าขอโทษ แต่ต้องดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด สำหรับมาตรการเพิ่มความปลอดภัยบริเวณห้องฉุกเฉิน ได้ประสานตำรวจในท้องที่จัดทำระบบควบคุมประตู มีห้องหรือทางเข้าออกอย่างน้อย 2 ทาง จัดสถานที่แก่ญาติ จำกัดทางเข้าออก ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มในจุดเสี่ยง


ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลไม่ได้มีแค่ทำร้ายร่างกาย แต่ยังมี 1.ใช้เป็นสถานที่ทะเลาะวิวาท แต่ไม่เกี่ยวกับบุคคลโรงพยาบาล 2.การข่มขู่ให้กลัว ซึ่งที่มีหลายรูปแบบ ทั้งขู่จากญาติและถ่ายคลิป “อวัจนภาษา” ที่มาในรูปแบบมือถือ 3.อดีตลูกจ้างของโรงพยาบาลไม่พอใจกลับมาทำร้ายบุคลากร และ 4.เรื่องส่วนตัว ญาติของบุคคลากรของโรงพยาบาล ที่เข้ามาทะเลาะวิวาทกัน โดยปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง คือ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นต่างจังหวัด แพทย์และพยาบาลจบใหม่วุฒิภาวะและประสบการณ์ยังน้อย ฉะนั้นห้องฉุกเฉินจึงเป็นสถานที่รองรับทุกอย่าง ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับอันตรายมากที่สุด คือ ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล และแพทย์ อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการทำงาน "ถึก-อึด-ทน" นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถูกทำร้ายมากขึ้นด้วย

"ที่อินเดียเป็นคดีอาญาไม่ให้ประกันตัว ส่วนมาเลเซียออกข้อปฏิบัติห้ามเข้าพื้นที่ห้องฉุกเฉิน ให้เคารพสิทธิ์คนอื่น แต่ยังไม่เป็นกฎหมาย ที่อังกฤษ ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกัน แค่ขู่ทางวาจาและพิสูจน์ได้ว่าทำจริงก็โดนโทษสูงสุดแล้ว ขณะที่จีนเป็นคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีออกกฎหมายใหม่ แพทย์มีสิทธิ์ป้องกันตัวเอง เมื่อเป็นคดีไม่มีการคุยนอกรอบเหมือนไทย" นพ.เมธี กล่าวให้ฟัง

ขณะที่ พล.ต.ต.สุรชาติ จึงดำรงกิจ ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้สังคมเริ่มป่วยเกิดทฤษฎีลอกเลียนแบบจากโลกโซเชียลฯ ถ้ามีเหตุทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นก็แตกตื่นกันเหมือนไฟไหม้ฟาง ล่าสุดในการปฏิบัติงานได้เพิ่มห้องฉุกเฉินเข้ามา โดยทุกเทศกาลสำคัญได้สั่งให้สายตรวจเข้าไปดูแล พร้อมกับมีแผนสั่งการให้ร้อยเวรแต่ละคนไปประจำร่วมกับแพทย์เวรฉุกเฉิน โดยจะเป็นทางออกที่ทำได้ทันที และสามารถระงับเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น


นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด กล่าวว่า จริงๆ ไม่ใช่ปัญหาของตำรวจ โรงพยาบาล แต่เป็นปัญหาของสัมคมที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ เพราะถ้ามีแพทย์หรือบุคลากรไม่เพียงพอ ใครจะมาช่วยเรายามเจ็บป่วย ปัญหาอื่นๆ ก็ตามมา ทั้งนี้ในแง่กฎหมายว่าด้วยกันที่หลักฐาน การบุกรุกเข้าไปทำร้ายบุคลากรในโรงพยาบาลมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี ซึ่งกล้องวงจรปิดจะเป็นพยานปากเอกช่วยให้คดีได้รับความกระจ่าง สังคมจะได้ตื่นรู้ ส่วนคู่อริที่ตามไปทำร้ายอาจจะโดนข้อหาเจตนาฆ่า โทษสูงสุดคือประหารชีวิต ซึ่งถ้าผู้ต้องหาปฏิเสธข้อหา จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ลดโทษลงครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะยืนยันว่าประสงค์ต่อสู้คดีและไม่รับสารภาพ ถ้าผิดก็จะต้องได้รับโทษเต็มอัตรา

"คนไม่กลัวกฎหมาย แต่กลัวประสิทธิภาพของกฎหมาย ถ้าเขารู้ว่าเรือนจำเป็นอย่างไร อึดอัดทุกข์ใจและทรมานแค่ไหน คนไม่ได้กลัวตำรวจ แต่กลัวการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบริการสังคม คือการไปดูแลคนป่วย เพราะไม่อยากทำ และไม่ได้จบที่เรือนจำ เพราะมีคดีแพ่งตามมา มีประวัติเสีย หรือล้มละลาย ดังนั้นถ้าทุกโรงพยาบาลมีกล้องวงจรปิด แม้คนจะพูดว่าลูกฉันเป็นคนดี ก็จะได้รู้ว่าการขอความเป็นธรรมควรได้รับหรือไม่ วันหนึ่งเครื่องมือแพทย์ทั้งหลาย อาจต้องใช้ดูแลตัวผู้ก่อเหตุหรือญาติของเขาในอนาคต" รองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด กล่าวเตือน


รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 ระบุว่า อาชีพพยาบาลเป็นเหยื่อที่ปลายทาง เราต้องถอยกลับนำเสนอปัญหาของสังคมให้ประชาชนได้รับทราบ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องดูว่า จะให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลรถพยาบาลที่ลงพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ เราซ้อมดูแลคนไข้ แต่เราไม่ได้พร้อมรับศึกออกรบ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวปิดท้ายว่า ข้อเสนอทางแพทยสภา ขอมาตรการ สธ. ป้องกันคนเมา คนไม่เกี่ยวข้องเข้ามาเขตห้องฉุกเฉิน ยกเว้นผู้ป่วย และกำหนดให้ห้องฉุกเฉินเป็นเขตปลอดคนเมาสุรา ทั้งนี้ยังเล็งถึงการติดป้ายเตือน ซึ่งอยู่ระหว่างให้ สสส. ออกแบบ อาทิ "เมาไม่เข้าโรงพยาบาล, ตีกันติดคุกแน่นอน" รวมถึงระบุโทษจำคุกลงไปด้วย ซึ่งท่านรองโฆษกสำนักอัยการสูงสุดก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความตระหนักและป้องปรามมิให้เกิดเหตุในครั้งต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นพี่ตูนวิ่งแทบตาย แต่ตีกันไม่กี่นาทีความเสียหายหลายล้านบาทเกิดขึ้นกับเครื่องมือแพทย์แล้ว.