ข่าวไขสงสัยแมว-ไก่ ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร - kachon.com

ไขสงสัยแมว-ไก่ ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

ยังความปลาบปลื้มปิติมาสู่ปวงชนชาวไทย เนื่องในวันมหามงคล "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" หนึ่งในวันประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้รับชมกัน โดยในวันที่ 4 พ.ค. ยังมีอีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญคือ "พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร" ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การพระราชพิธีดังกล่าวคือการสมโภชปราสาทราชมณเฑียรสถานที่ประทับดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี หากเทียบกับประเพณีชาวบ้านก็เปรียบได้กับ "การขึ้นบ้านใหม่"

ภาพ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และมหาดเล็ก
ที่มา : กรมศิลปากร


แม้ในอดีตที่ผ่านมาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีแต่มหาดเล็กฝ่ายหน้าซึ่งเป็นผู้ชายเป็นผู้ประกอบพิธีเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับการอันเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นหน้าที่ของพระราชวงศ์ฝ่ายในซึ่งเป็นสตรีทั้งหมด โดยในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บรรยายถึงพิธีนี้ว่า "ครั้งได้ฤกษ์เจ้าพนักงานจึงประโคมดุริยางคดนตรีแตรสังข์พิณพาทย์มโหรีมี่สนั่นประนังเสียงศัพทนฤนาท เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมหามณเฑียร ทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน มีนางชำระพระบาท ๒ นางเชิญเครื่องราชูปโภค และนางเชื้อพระวงศ์ ๖ อุ้มวิฬาร์ ๑ อุ้มศิลาบด ๑ อุ้มฟักเขียว ๑ ถือขันข้าวเปลือก ๑ ถือขันถั่วทอง ๑ ถือขันงา ๑" ทั้งนี้มีการเพิ่มพระแส้หางช้างเผือกเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีการเพิ่มไก่ขาวในสมัยรัชกาลที่ 7

โดย "พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ)" ได้อธิบายว่า แมวที่เข้าพระราชพิธีต้องเป็นแมวคราว คือแมวแก่ ตัวใหญ่ หนาวยาว อยู่ติดถิ่น ทางด้าน "ณัฏฐภัทร จันทวิช" ให้ความเห็นเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรว่า แมวเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภและความร่มเย็น อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าแมวสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายเพราะแมวมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในเวลากลางคืน และความเชื่อที่ว่าแมวมี 9 ชีวิตก็เป็นตัวแทนของความยั่งยืนสถาพรและความเป็นอมตะ 

ภาพ : หม่อมราชวงศ์กิตติวัฒนา ปกมนตรี 

นอกจากนี้ ตามคติความเชื่อของคนไทยยังเชื่อว่า แมวเป็นสัตว์รู้ที่อยู่ ไม่ทิ้งถิ่น ให้ความหมายถึงการอยู่อย่างเป็นสุข โดยในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรนั้น แมวจะถูกตกแต่งด้วยเครื่องประดับสวยงาม แต่การจะอุ้มแมวให้สามารถอยู่ร่วมพิธีได้ตลอดจนจบงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้อัญเชิญแมวจึงต้องนำแมวไปเลี้ยงดูเพื่อสร้างความคุ้นเคยอยู่นาน ซึ่งเรื่องนี้ "หม่อมราชวงศ์กิตติวัฒนา ปกมนตรี" (นามเดิม หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ไชยันต์ ธิดาในพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ผู้มีอายุเพียง 16 ในขณะนั้น เป็น 1 ใน 16 หญิงสาวราชสกุลผู้รับหน้าที่ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 ได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ "เขียนถึงสมเด็จฯ ตอนนางแก้วคู่พระบารมี" ครั้งนั้น หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา รับหน้าที่อุ้มพระวิฬาร์ ซึ่งแทบจะหาผู้รับหน้าที่นี้ไม่ได้ แต่หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนาเป็นผู้รักสัตว์ จึงรับหน้าที่นี้ และจำเป็นต้องนำไปเลี้ยงที่บ้านก่อนงานพระราชพิธีนานร่วมเดือน พอถึงวันพิธีจริงต้องนำแมวมาแต่งตัวประดับด้วยอุบะเพชรซีก รวมทั้งสร้อยและกำไลโบราณ เมื่อถึงในพิธีก็ต้องคอยอุ้มแมวให้อยู่นิ่งๆ นานนับชั่วโมงจนกว่าจะจบพิธี

ภาพ : พระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าและเชื้อพระองค์ในกระบวนอัญเชิญเครื่องราชูปโภคและเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในรัชกาลที่ 9
ที่มา : หนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์


ทั้งนี้ นอกจาก "แมว" ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้เข้าร่วมพิธีสำคัญนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตได้เข้าร่วมขบวนในฐานะสัตว์มงคลเช่นกันนั่นก็คือ "ไก่" ซึ่งมีผู้สันนิษฐานความหมายไว้หลากหลาย เช่น ไก่ในเชิงที่หมายถึงความขยันทำมาหากิน อาจเป็นเพราะไก่เป็นสัตว์ที่สวยงามน่ารักและมีคุณช่วยขันบอกเวลาและออกไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ตามความเชื่อของชาวจีนไก่ขาวยังสามาถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ หรือในทางยุโรปนั้นก็มักจะปรากฏภาพของชนชั้นสูงอุ้มไก่และถือไม้เท้าไว้คู่กันเสมอ โดยเฉพาะชนชั้นสูงของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เชื่อมต่อสู่ศตวรรษที่ 19 นั้นนิยมอุ้มไก่แจ้ขาวและถือไม้เท้าไว้คู่กัน โดยไม้เท้าในยุคนั้นถูกตีความถึงอำนาจ ส่วนไก่แจ้ขาวคือความงาม

โดยในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ปรากฏตำแหน่งนางอัญเชิญไก่ขาวในขบวนด้วย ซึ่งผู้ที่อุ้มไก่จะต้องเป็นผู้อัญเชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ไว้คู่กับไก่ด้วย โดยในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรรัชกาลที่ 9 เมื่อปีพ.ศ.2493 นั้น หม่อมราชวงศ์บุษบา พระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รับหน้าที่ผู้อุ้มไก่ขาวและอัญเชิญธารพระกร (ไม้เท้า) โดยทางหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ผู้อุ้มแมวเล่าถึงหน้าที่ของหม่อมราชวงศ์บุษบาไว้ว่า "ท่านผู้หญิงบุษบาอุ้มไก่ ตอนนั้นเห็นบ่นว่าไก่อึใส่ เป็นไก่ขาวตัวเบ้อเร่อเลย มีอยู่สองคนที่รู้สึกว่าจำลำบากกว่าเพื่อนเลย แต่ท่านผู้หญิงจะลำบากมากกว่า เพราะต้องถือไม้เท้าอีกอัน มือหนึ่งถือไม้เท้า มือหนึ่งอุ้มไก่"...


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @กรมศิลปากร,@ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์