ข่าวยัน'ยาเพร็พ'ต้านเชื้อเอดส์ได้จริง 300บาท-ห้ามโพสต์ขาย - kachon.com

ยัน'ยาเพร็พ'ต้านเชื้อเอดส์ได้จริง 300บาท-ห้ามโพสต์ขาย
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. โลกโซเชียลได้แชร์ข้อความอ้างสรรพคุณว่า “ยาเพร็พ(PrEP)มีขายแล้วนะ ขวดละ 300 บาท มี 30เม็ด ที่เชียงใหม่ เป็นยากินต้านไวรัสเพื่อการป้องกันการติดเชื้อHIV (สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อHIV)ผู้ที่กินยาเพร็พต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อน การตรวจเลือดฟรีแถมถุง+เจลให้ด้วย ไม่แน่ใจโทรฯไปปรึกษาหรือสอบถามได้” ซึ่งข้อความนี้ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าจริงหรือไม่ และตัวยาป้องกันได้เหมือนถุงยางอนามัยหรือไม่ หรือเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อแค่นั้น ทำไมถึงมีราคาถูก


ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้นำข้อมูลเข้าไปพบกับ ภก.อิศรา นานาวิชิต ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งให้คำตอบว่า ยาเพร็พนั้นในต่างประเทศใช้อย่างแพร่หลายมานานแล้ว ส่วนของประเทศไทยทาง อย.ก็รับรองแล้ว เป็นยาที่ยังอยู่ในความควบคุมของแพทย์ ไม่ใช่ยาที่สามารถเดินเข้าไปซื้อตามร้านขายยาได้ แม้ว่าขณะนี้ที่ตรวจ HIV จะมีวางขายในร้านขายยาและให้คนซื้อมาตรวจได้เองแล้วก็ตาม แต่ตัวยาเพร็พยังต้องควบคุมปริมาณในการกินให้สอดคล้องกับร่างกาย

"การป้องกันหรือต้านไวรัส HIV ได้จริงหรือไม่ เขอยืนยันว่าได้จริง ซึ่งยาเพร็พจะถูกนำมาใช้ก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ มีอยู่สองประเภทคือประเภทที่มีอาร์และไม่มีอาร์ เป็นยาที่มักใช้กลุ่มเสี่ยงที่ไปมีกิจกรรมในทางเพศสัมพันธ์ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญคือต้องรู้ตัวเองก่อนว่า ตัวเองมีเชื้อหรือไม่ หากไม่มีเชื้อกินได้ ที่ผ่านมาทางแพทย์ก็ไม่ทราบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HIVหรือไม่ แต่เมื่อใช้เข็ม และพลาดมาโดนตัวเอง ก็จะกินตัวยานี้ไปฆ่าไวรัส ซึ่งก็ป้องกันได้ แต่หากกินเข้าไปนานๆ อาจจะมีผลกระทบในอนาคตคือ อาจจะทำให้ดื้อยา ดังนั้นต้องเข้าไปปรึกษาแพทย์ ส่วนการขายออนไลน์นั้น หากขายโดยไม่ได้ขออนุญาตก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ที่เผยแพร่ผ่านโลกโซเชียลนั้น ทราบว่าคลินิคได้ขออนุญาตที่ถูกต้องแล้ว จำหน่ายได้"


ขณะที่ทางคลีนิคที่ถูกกล่าวถึง ได้ให้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์ว่า ยาเพร็พ จำหน่ายเพียงแค่ 300 บาท เนื่องจากเป็นการนำมาวิจัยเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งราคาจริงจะแพงกว่านี้ แต่เป็นการซื้อมาเพื่อทำการวิจัยจึงมีราคาที่ถูกลง เมื่อถามว่ามีคนที่ไม่ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยงเข้ามาติดต่อเยอะหรือไม่ ก็ยังไม่มาก เพราะหลายคนอาจจะเกิดความสงสัยและยังคงใช้ถุงยางอนามัยกันอยู่ ยาเพร็พมีมานานแล้ว อย.ก็รับรองแล้ว เช็กข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ สธ. แต่แนะว่า ควรสวมถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้ว่าตัวเองหรือคู่รักจะเป็นหรือไม่เป็น เหมือนป้องกันแบบเกราะสองชั้น.