ข่าวชาวนาเลิกจนซ้ำซาก เปลี่ยนแล้งเป็นรวย - kachon.com

ชาวนาเลิกจนซ้ำซาก เปลี่ยนแล้งเป็นรวย
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

น้ำท่วมที่ทำกินหลังจากสร้าง เขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ ได้ซ้ำเติมให้เกษตรกรที่ยากไร้ประสบความยากจนข้นแค้นหนักยิ่งขึ้น จริงอยู่ทุกคนได้รับเงินเยียวยาอย่างครบถ้วน แต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะขาดอาชีพที่มั่นคง ดังนั้นกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ช่วยปรับเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ด้วยดำเนินโครงการทฤษฎีใหม่ประยุกต์ มาปรับระบบการผลิตและการเลี้ยงชีพให้มีความยั่งยืนมั่นคง บนพื้นที่ต้นแบบนำร่อง 500 ไร่





นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ ในฐานะคนต้นคิดได้กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ยั่งยืน คือการส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง โดยนำ ศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแกนหลักให้ทุกคนเดินตาม ซึ่งสร้างความสำเร็จได้มากกว่าการใช้เงินแก้ปัญหา เริ่มจาก การระเบิดจากข้างใน กระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความสมัครใจและลงมือทำด้วยตัวเอง ลองเปลี่ยนจากทำนา มาทำเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อ เก็บน้ำ โดยมีกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่เป็นกองหนุน ช่วยสนับสนุนด้านอบรมเพิ่มทักษะต่าง ๆ


นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายเพิ่มเติมว่า พื้นที่นำร่อง 500 ไร่ตาม โครงการทฤษฎีใหม่ประยุกต์ จะเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิต เกษตรอินทรีย์ 100% ที่ไม่พึ่งพาสารเคมีใด ๆ ส่วนโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ จะพัฒนาอาชีพในเขตพื้นที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา เน้นให้เกษตรกรทุกคนที่เข้าร่วมโครงการทำเกษตรอินทรีย์ในลักษณะการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการทำเกษตรผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่


ขณะที่ นางรณิดา จันทสิทธิ์ เกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำท่วมที่ดินทำกิน เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำนาอย่างเดียว เคยไปอบรมให้ใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี เมื่อลองทำดูก็ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม พอกรมชลประทานมาจัดอบรมโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ จึงตัดสินใจเข้าร่วม ทำให้ได้แนวคิด เกษตรทฤษฎีใหม่แบบอินทรีย์ โดยลองแบ่งพื้นที่บางส่วนจากนาข้าวมา ออกแบบสร้างแปลงเพาะปลูกใหม่ให้เหมาะสมทั้งสภาพดินและน้ำ เมื่อมีการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง ก็ทำให้หมดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงพืชหลากหลายชนิดเก็บกินเก็บขายได้เงินตลอดปี


โครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์เพื่อพัฒนาอาชีพในเขตพื้นที่เขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา ใช้วิธี ขับเคลื่อนโดยเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจเข้าอบรม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างถ่องแท้ จนนำไปสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะ ผ่านฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างการทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น อย่างต้นกล้วย ผัก ผลไม้ นำมาหมักเพื่อใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน สร้างอาหารให้พืชเจริญเติบโตและเป็นสารไล่แมลง ฐานการการทำปุ๋ยหมักสูตร 15-15-15 ด้วยมูลวัว เพื่อบำรุงดิน บำรุงพืชที่ใช้ได้ทั้งนาข้าว พืชผัก และไม้ผลต่าง ๆ และฐานคนเอาถ่านที่ประหยัดเวลาและยังได้น้ำส้มควันไม้ไว้ใช้ประโยชน์ด้วย จากการปรับเปลี่ยนจากเตาถ่านดินมาใช้ถังน้ำมันเก่าเหลือใช้ ทำเป็นเตาเผาถ่านที่ประหยัดเวลา เพียง 1 วันก็ได้ถ่านที่คุณภาพดีเหมือนเตาถ่านดิน


นอกจากนี้เกษตรกรทุกคนยังได้ลงมือทดลองทำแปลงเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ จากแปลงต้นแบบ ตั้งแต่การห่มดิน ขุดบันไดบ่อเพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์ บำรุงพืชด้วยปุ๋ยหมัก ปลูกพืชสวนครัวแซมพืชหลัก ซึ่งการลงมือปฏิบัติจริงจะช่วยเพิ่มทักษะ เรียนรู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากพืชผัก สภาพดิน และลักษณะพื้นเพื่อนำไปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองต่อไปด้วย


พื้นที่นำร่องด้วยทฤษฎีใหม่เกษตรอินทรีย์ 500 ไร่ จะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่ช่วยเปลี่ยนความแล้ง ให้มีความเขียว เปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวซึ่งมีแต่ความเสี่ยง ให้เป็นแปลงพืชผสมผสานที่มีแต่ความมั่นคงยั่งยืน และยังเปลี่ยนน้ำท่วม เปลี่ยนความยากจนที่หนี้สินล้นพ้น ให้เป็นเกษตรกรที่สามารถยืนได้บนขาตัวเอง มีความมั่นคงทางรายได้ มีความสุขที่ยั่งยืน และที่สำคัญลูกหลานมีอาชีพทำอยู่กับบ้าน ไม่ต้องไปหางานทำไกล ๆ ให้คิดฮอดกันอีก.