ข่าวชูธงทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สร้างแหล่งน้ำแก้แล้งซ้ำซาก - kachon.com

ชูธงทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สร้างแหล่งน้ำแก้แล้งซ้ำซาก
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

หลังจากครม.มีมติ จ่ายค่าชดเชยวงเงิน 599ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ที่ผ่านมาให้เกษตรกรหลังจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลมาเกือบ40ปี โดยกระทรวงพลังงาน ก่อสร้างเมื่อปี2532 -2535 เริ่มเก็บน้ำในลำน้ำมูล ทำให้เกิดปัญหาน้ำเข้าท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน และในปี2545มีการโอนภารกิจของกระทรวงพลังงาน มาให้กรมชลประทาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านมาต่อเนื่อง



ซึ่งขณะนี้สรุปค่าชดเชยค่าเสียหายล็อตสุดท้ายที่ยังจ่ายค่าชดเชยไม่ครบในพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ จากนี้ไปกรมชลประทาน จะไปรังวัดพิสูจน์สิทธิการครอบครองเกษตรกรทำกินจริงในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราษฎรได้รับผลกระทบจากเขื่อนราศีไศล ด้วยการนำเทคโนโลยีแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ที่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเกษตรกรทำประโยชน์จริง แล้วมาพิสูจน์สิทธิการทำกิน เป็นเกษตรกรตัวจริงทั้งหมด


จากพื้นที่ชาวบ้านกว่า9 หมื่นไร่ที่โดนน้ำท่วม โดยจ่ายไปแล้ว 6หมื่นกว่าไร่ ในอัตราไร่ละ 32,000 บาท ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบสิทธิของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถจ่ายเงินค่าชดเชยได้มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการทำกินของเกษตรกรอย่างยั่งยืน กรมชลประทานจึงเข้าไปส่งเสริมและขยายผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ 500 ไร่ นำร่องพื้นที่ต้นแบบจังหวัดศรีสะเกษ

      
นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้รับเงินไปแล้วก็ไปใช้จ่ายหมดและจะมาเรียกร้องเพิ่มเติมอีก ซึ่งปัญหาจะวนเวียนอยู่แบบนี้เสมอ    สิ่งหนึ่งที่ทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนาคิด คือจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืน มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ มีเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มีรายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


กรมชลประทานจึงได้จัดทำโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพัฒนาอาชีพในเขตพื้นที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่แบบประยุกต์เพื่ออาชีพที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม อนุมัติให้กรมชลประทานมาดำเนินโครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพัฒนาอาชีพในเขตพื้นที่ เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่ประมาณ 500ไร่ เป็นการนำร่องระยะที่ 1


โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมต้องมีความสมัครใจ และพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นลักษณะเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่มีเงื่อนไข คือ พื้นที่นำร่อง 500ไร่ จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น  เน้นให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผนานเกษตรทฤษฎีใหม่แบบประยุกต์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองและกรมชลประทาน เป็นพี่เลี้ยงในการออกแบบแปลง สนับสนุนเครื่องจักรและให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการแบ่งพื้นที่บางส่วนขุดบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง ซึ่งกรมชลประทานจะใช้เครื่องจักรช่วยขุดบ่อที่เหมาะสมกับดินและสภาพพื้นที่ของเกษตรกร การสำรวจออกแบบแปลง กรมชลประทานจะไปขุดสระ ขุดบ่อ ปลูกพืชตามไร่นาสวนผสม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการบูรณาการกับหน่วยงานทุกหน่วยงาน มาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่การปรับปรุงคุณภาพดิน น้ำ และจะมีทีมงานติดตามประเมินผล และให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในการทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปลา การเลี้ยงสัตว์  ปลูกพืชชนิดต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทุกวัน


รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ประเทศไทยฝนตกเฉลี่ยประมาณ 1400มิลลิเมตร  ซึ่งภาคอีสาน มีฝนตก เพียงแต่สภาพดินอาจจะไม่สามารถเก็บน้ำได้  แต่ว่าหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถทำให้เกษตรกเก็บน้ำได้  อย่างการแบ่งพื้นที่ประมาณ 1ไร่ ขุดสระ  เมื่อฝนตกลงมาในหน้าฝน ถ้ามีสระน้ำในพื้นที่จะสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 2000 ลูกบาศ์กเมตร ไว้ใช้ในหน้าแล้งได้

      
เกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากเกษตรกรจะได้รับประโยชน์และรายได้แล้ว ยังสร้างสังคม สร้างความสามัคคี และความรักให้กับคนรอบข้าง จากการแบ่งปัน และพึ่งพาตนเอง  เริ่มต้นง่ายๆด้วยการลดพื้นที่การทำการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยว  อย่างการทำนา ปรับเปลี่ยนมาเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำด้วยการขุดสระน้ำ เพื่อเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงพืชและสัตว์ในแปลงเกษตรผสมผสานได้อย่างถาวร แม้จะมีภัยแล้ง เกษตรกรก็ไม่เดือดร้อน และยังมีน้ำกิน น้ำใช้ตลอดทั้งปี