เลี้ยงกบลูกผสม3สายพันธุ์ 'ขายง่าย-รายได้ดี'
ข่าวประจำวัน
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายสาธิต คำกองแก้ว ข้าราชการบำนาญ/เกษตรกรเลี้ยงกบลูกผสม 3 สายพันธุ์ บ้านหนองยางคำ หมู่ 13 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวถึงอาชีพเลี้ยงกบ ว่า ก่อนที่ตนจะเลี้ยงกบ เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ตนได้ไปเห็นเพื่อนเลี้ยงกบ ซึ่งเลี้ยงได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์ไปจนถึงจับขาย ใช้เวลาเพียง 4 เดือนก็จับขายได้ พื้นที่ในการเลี้ยงกบก็ใช้ไม่มาก ที่สำคัญสามารถเลี้ยงในกระชังบ่อบนเลี้ยงปลาที่ตนเลี้ยงอยู่เดิมแล้วได้ จึงได้ขอแบ่งพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่เป็นกบลูกผสม 2 สายพันธุ์คือบลูฟร็อกที่ตัวโตกับกบนาที่แข็งแรง จากเพื่อนจำนวน 60 คู่ จากนั้นได้นำมาผสมกับกบนาทำให้ได้ลูกกบ 3 สายพันธุ์มาเลี้ยง ซึ่งกบ 3 สายพันธุ์จะเลี้ยงง่าย แข็งแรงกว่าเดิม และโตเร็วตั้งแต่เป็นลูกอ็อดจนถึงจับขาย สีสันก็สวยงาม ไม่ดำเหมือนกบนา หากไม่ผสมกับกบนา จะผสมกับกบบลูฟร็อกก็ได้ลูกกบ 3 สายพันธุ์ที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย และโตไวเช่นกัน ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงกบนั้น จะใช้อาหารที่เลี้ยงกบโดยเฉพาะหรืออาหารที่ใช้เลี้ยงปลาดุกก็ได้ หรือหากมีเศษปลาหรือลูกปลาที่ตายก็สามารถใช้เป็นอาหารของกบได้ ซึ่งจะให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้ากับเย็นเท่านั้น และไม่ต้องให้มากจะสิ้นเปลืองเปล่า ๆ มีคนที่เคยคำนวณมาแล้ว กบหนึ่งตัวจะกินอาหารเม็ดไม่เกิน 10 เม็ด บางคนเห็นกบกินอาหารดี ก็ให้อาหารมทีละมาก ๆ เพื่ออยากให้กบโตไว ๆ พอมันกินไปสักพักมันก็จะคายทิ้ง เป็นการสิ้นเปลืองโดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร กลับทำให้เกิดเศษอาหารเน่าเสียต้องทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์
นายสาธิต กล่าวต่อว่า การเลี้ยงกบมีการเลี้ยงได้หลายแบบ ทั้งเลี้ยงในกระชัง เลี้ยงในซีเมนต์ เลี้ยงในคอนโด (ยางรถยนต์) และเลี้ยงในคอก ซึ่งการเลี้ยงในตอนโดเป็นการทรมานกบ และไม่สะดวกในการดูแลรักษา ไม่กี่วันก็ต้องล้างทำความสะอาด การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ก็เช่นเดียวกันต้องหมั่นทำความสะอาด ที่สำคัญการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ต้องมีการปูกระเบื้องเพื่อไม่ให้กบที่เลี้ยงเป็นแผลแล้วติดเชื้อ ซึ่งตนพบว่าการเลี้ยงกบที่ดีที่สุดคือการเลี้ยงในกระชังบนบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงง่าย ดูแลรักษาง่าย ระวังนกและงูเท่านั้น อาหารที่ให้กบกินไม่หมดก็จะกลายเป็นอาหารของปลา ทำให้ไม่ต้องทำความสะอาดอะไร กบที่เลี้ยงก็สะอาดไม่คาว เวลาอากาศร้อนจัดเราก็จะนำผักตบชวามาใส่ในกระชังที่เลี้ยง กบก็จะเข้าไปหลบร้อนและลงแช่น้ำเป็นการคลายร้อนได้
"กระชังในการใช้เลี้ยงกบก็ทำไม่ยาก ซื้อวัสดุมาทำเอง กระชังที่ตนทำขนาด 1.20 ม. x 3.50 ม. สามารถเลี้ยงได้ไม้เกิน 800 ตัว ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่เกิน 4 เดือน ก็สามารถจับขายได้ น้ำหนัก 4-5 ตัว/กิโลกรัม ขนาดของกบที่ขายได้ง่ายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตลาดและพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดหนองคายนิยมรับประทานกบที่ตัวโตๆ บางพื้นที่ก็นิยมขนาดที่เล็กลงเช่น 6 - 7 ตัว/กิโลกรัม เป็นต้น การเลี้ยงกบ 3 สายพันธุ์ขายถือว่ามีความคุ้มค่ากับการลงทุน กระชังซื้อวัสดุมาทำเองตกอยู่ที่ 200 บาท/กระชัง ส่วนลูกกบหากซื้อมาเลี้ยงก็จะตกตัวละ 3 บาท(อายุ 1 เดือนครึ่ง) อาหารตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจับขายไม่เกิน 4 กระสอบ/กระชัง ราคากระสอบละ 420 บาท และวิตามินเสริมอีก 160 บาท ที่ผ่านมา 1 กระชัง ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ตนเลี้ยงกบประมาณ 500 ตัว ได้กบทั้งหมด 120 กิโลกรับ ราคาขายหน้ากระชังอยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม เมื่อคำนวณดูแล้วถือว่าคุ้มค่ากับการเลี้ยงมาก" นายสาธิต กล่าว
ทั้งนี้ นายสาธิต มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เลี้ยงกบแล้วต้องการเพาะพันธุ์ลูกกบที่เลี้ยงเอง ว่า ในแต่ละปีจะต้องมีการสลับสายพันธุ์กับกบจากคอกอื่นๆ หรือหากบนาที่จับได้จากธรรมชาติทั่วไปมาผสม เพื่อไม่ให้สายพันธุ์มันชิดกันเกินไปที่จะส่งผลเสียให้ลูกกบที่ได้ไม่แข็งแรง ซึ่งลูกกบที่ได้จากการผสมข้ามสายพันธุ์จะแข็งแรง แต่อาจจะดุ มีการกินกันเอง แต่แก้ไขได้โดยการไม่เลี้ยงจนแออัดเกินไป และมีการให้วิตามินเสริมเพื่อเป็นการคลายเครียด ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยงกบนั้นเหมาะสมตลอดทั้งปี ยกเว้นฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – มกราคม ที่กบจะไม่กินอาหารและจะจำศีล จึงไม่ควรเลี้ยงในช่วงดังกล่าว มีหลายคนไปบังคับเลี้ยงในช่วงกล่าวแต่ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการบังคับกบและทรมานกบ ราคาก็ไม่ได้ดีกว่าช่วงปกติมากนัก ประกอบกับบ้านเรายังมีอาหารอย่างอื่นอีกมาก ไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใดที่จำเป็นต้องเลี้ยงกบในช่วงฤดูหนาว สำหรับราคากบนั้น ถือว่าราคาดีมาก มีแม่ค้า-พ่อค้าทั่วไปที่เป็นขาประจำมาซื้อถึงที่ราคา 80 บาท/กิโลกรัม และยังมีพ่อค้า-แม่ค้าที่ซื้อไปส่งขายต่อ สปป.ลาว ครั้งละมาก ๆ อีก แบบเหมากระชังไปเลย ราคา 75 บาท/กิโลกรัม กบที่เลี้ยงในกระชังจะรสชาติดีไม่คาว เพราะเป็นกบที่สะอาด ได้เล่นน้ำเป็นประจำ สีสันก็สวยงาม ส่วนการนำลูกกบไปเลี้ยงในนาข้าวนั้น ก็จะมีผลดีคือกบจะช่วยกินแมลงที่เป็นศัตรูพืช แต่ก็ต้องระวังคือกบจะค่อนข้างเชื่องง่ายต่อการถูกจับได้ แต่ก็สามารถฝึกได้ คือการให้อาหารนาน ๆ ให้ทีเพื่อให้ลูกกบปรับเข้ากับธรรมชาติ
สำหรับข้อแนะนำสำหรับผู้ต้องการเลี้ยงกบไว้รับประทานนั้น อาจจะเลี้ยงในกระชังเล็ก ๆ หรือในนาข้าวของตนเอง โดยการนำตาข่ายเขียวมาล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้กบออกจากนาข้าวที่เลี้ยงได้ มีการให้อาหารบ้างเป็นบางครั้ง ก็สามารถทำได้ แต่หากต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพเลยนั้น ให้เลี้ยงในกระชังเช่นเดียวกับตน เพราะดูแลง่ายกว่า หรือจะเลี้ยงเป็นลูกกบขายก็ได้ ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 1 เดือนก็ได้ลูกกบขนาดที่นิยมนำไปเลี้ยงกัน อย่างที่ตนเลี้ยงเป็นลูกกบขายก็ขายได้ง่าย ลูกค้าจากฝั่ง สปป.ลาว ก็ข้ามมาซื้อครั้งละหลายพันตัว ส่วนลูกค้าในพื้นที่ก็ครั้งละหลายร้อยตัว ตอนนี้เพาะไม่พอขาย ส่วนการเพาะพันธุ์นั้นก็ไม่ยาก ให้คัดเลือกกบที่เลี้ยงไว้ ทำแปลงนาและทำฝนเทียมเพื่อให้กบผสมพันธุ์กัน ก็จะได้ไข่กบ ก่อนจะเป็นลูกอ็อดและลูกกบให้นำมาเลี้ยงต่อไป ที่สำคัญต้องเลือกสายพันธุ์ในการเลี้ยงให้ดี
"การเลี้ยงลูกอ็อดขายก็ง่าย ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 15-18 วันก็พร้อมขาย แต่ต้องขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ว่านิยมรับประทานลูกอ็อดกันหรือไม่ อย่างเช่นที่จังหวัดสารคาม นิยมรับประทานกัน ก็สามารถทำได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการทำกันทั้งหมู่บ้านแต่ละวันออกเป็นตัน เป็นการเลี้ยงในบ่อดินที่โตเร็ว แต่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยง" นายสาธิต กล่าวทิ้งท้าย