ชาวบ้านสวดยับขึ้นค่ารถเมล์-รถทัวร์ บขส.วันแรก!
ข่าวประจำวัน
นายประยูร กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับขึ้นครั้งนี้จะปรับขึ้นทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์ของบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) รถร่วม บขส. รถเมล์ ขสมก. และ รถร่วม ขสมก. ก่อนหน้าจะมีผลบังคับใช้ ได้สอบถามผู้โดยสารแล้วก็เห็นด้วย เพราะค่าโดยสารต่ำมาก ไม่สอดคล้องกับต้นทุน และไม่ได้ปรับมานาน แต่สิ่งที่ผู้โดยสารต้องการคือให้ ขสมก. เร่งจัดหารถเมล์ใหม่มาให้บริการได้รวดเร็ว และเพิ่มจำนวนรถทดแทนรถเมล์เก่า เนื่องจากรถเมล์ใหม่เป็นรถชานต่ำ มีมาตรฐานความปลอดภัย ใหม่ สะอาด มีระบบปรับอากาศเย็นสบายและรองรับกลุ่มผู้พิการได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ผู้โดยสารสามารถแนะนำ ร้องเรียน มาได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ขสมก. โทร. 1348 ขสมก. พร้อมนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงการให้บริการดีขึ้น
นายประยูร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อศาลปกครอง ฐานกระทำการสั่งขึ้นค่ารถเมล์ทั้งระบบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนเกินสมควรนั้น ศาลปกครองกลาง ได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาไต่สวนแล้ว หากศาลฯมีคำสั่งมา ขสมก. พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีคำสั่ง ต้องปฏิบัติไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางไปก่อน
ด้าน น.ส.นิชชา วงศ์ภักดี อายุ 23 ปี นักศึกษา กล่าวว่า ใช้บริการรถเมล์ประจำโดยเฉพาะสาย ปอ.29 ซึ่งการปรับขึ้นราคาโดยสารในครั้งนี้ไม่ได้โดนผลกระทบมาก เพราะจ่ายเพิ่มแค่ 1 บาท ตามระยะทาง จากเดิมจะเก็บอยู่ที่ 13-25 บาท จะเก็บเพิ่มเป็น 14-26 บาท และยังจำเป็นต้องใช้รถเมล์อยู่ เพราะถูกกว่ารถตู้ที่ 30-35 บาท ซึ่งแพงกว่า ทั้งนี้เมื่อปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว ต้องการให้ปรับปรุงการให้บริการพร้อมกำชับพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารให้ใช้คำพูดสุภาพกับผู้โดยสาร คอยบอกผู้โดยสารเมื่อใกล้ถึงจุดจอดในแต่ละป้ายรถเมล์ เพราะบางครั้งผู้โดยสารไม่ได้ใช้ประจำ
ขณะที่ น.ส.ชยาลินี ไฝแก้ว อายุ 23 ปี พนักงานร้านอาหาร กล่าวว่า ตนใช้รถเมล์เดินทางเป็นประจำอยู่แล้ว การขึ้นราคาค่าโดยสารย่อมส่งผลกระทบแน่นอน แม้จะขึ้นเที่ยวละไม่มาก จากเดิมโดยสารไปกลับใช้ค่าโดยสารไม่เกินวันละ 20 บาท แต่หลังจากปรับราคาขึ้นอาจจะถึง 30 บาทต่อวัน แต่ก็คงต้องใช้เดินทางต่อไป เพราะไม่มีการเดินทางอื่นมารองรับ
ส่วน น.ส.ธัญชนก มาสันเทียะ อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การขึ้นราคาค่าโดยสารมีผลกระทบบ้าง จากเดิมที่จ่ายอยู่ในราคาเที่ยวละ 13 บาท ไปกลับ 26 บาท แต่พอปรับราคา ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นไปกลับครั้งละ 30 บาท บางวันอาจสูงจะถึง 40 บาท แม้ในระยะสั้นอาจจะมองว่าขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าต้องขึ้นทุกวันเป็นระยะยาว ยอดสะสมที่เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้มีการปรับขึ้น อยากปรับลดลงเหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังมีผู้โดยสารกลุ่มหนึ่ง ร้องเรียนผ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่า ในการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารวันแรกนั้น ต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดิมสูงมาก โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซเอ็นจีวี กับ รถเมล์ใหม่สีฟ้าของ ขสมก. จากเดิมที่เคยจ่ายค่าโดยสาร 13 บาท กลับต้องจ่ายเพิ่มสูงถึง 20 บาท ส่วนรถเมล์ใหม่สีฟ้าที่ขึ้นทางด่วน จากเดิมเคยจ่าย 19 บาท ต้องจ่าย 27 บาท เพิ่มขึ้นถึง 8 บาท ซึ่งผู้โดยสารกลุ่มนี้ แต่ละวันต้องเดินทางด้วยรถเมล์หลายต่อ ทำให้ค่าใช้จ่ายในเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทยอยปรับขึ้นค่าโดยสาร 1-2 บาท ตามระยะทาง เหมือนกับรถเมล์ปรับอากาศ ไม่ใช่ปรับขึ้นครั้งเดียวเกือบ 10 บาท ทั้งนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้เตรียมความพร้อมและบรรเทาความเดือดร้อน
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ หมอชิต 2 หลังมีการปรับค่ารถทัวร์ของบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถร่วมบขส.เป็นวันแรกเช่นกัน เพื่อ สอบถามปัญหาจากประชาชนผู้ใช้บริการ ก็ได้รับคำตอบจากนายโคสิต บุญหลง อายุ 68 ปี ประกอบกิจการส่วนตัวว่า ปกติจะเดินทางโดยเครื่องบินเป็นหลัก แต่ระยะหลังมีกระแสข่าวด้านลบเกี่ยวกับความปลอดภัย จึงหันมาใช้บริการรถทัวร์มาจาก จ.สงขลา ในราคาปกติ มาต่อรถทัวร์ที่หมอชิต 2 ไปจ.ขอนแก่น ซึ่งตนไม่ทราบมาก่อนว่า เช้าวันนี้จะมีการปรับขึ้นราคา ส่วนตัวคิดว่าเหมือนถูกรัฐบาลหักหลัง เพราะก่อนเลือกตั้งมีนโยบายลด แลก แจก แถม แต่พอหลังเลือกตั้ง กลับขึ้นทั้งค่าโดยสารและค่าไฟ จึงมองว่านี่เป็นการซ้ำเติมประชาชน
ด้าน น.ส.แคร์ ขอสงวนชื่อจริง-นามสกุล อายุ 27 ปี เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการในบริษัทการแพทย์เอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ปกติจะใช้บริการรถทัวร์เดินทางไปหาแฟนที่ จ.นครราชสีมา เป็นประจำ คิดว่าการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารคราวเดียว 18 บาท นั้นแพงเกินไปแม้ตนจะมีฐานเงินเดือนอยู่ระหว่าง 3-4 หมื่นบาท ก็ยังมองว่าไม่ควรปรับขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดแบบนี้ เพราะประชาชนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบแน่นอน หากเป็นไปได้อยากให้ลดราคาลงมาให้เหมาะสมกว่านี้
ต่อมาเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กรณีอนุมัติให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร รถโดยสารประจำทางสาธารณะทั้งใหม่และเก่าในหลายๆ หมวด ในอัตราตั้งแต่ 1-7 บาท เพื่อไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับคำสั่งขึ้นค่ารถเมล์ทั้งระบบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการสร้างภาระให้เกิดขึ้นกับประชาชนเกินสมควร ตามมาตรา 9(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยศาลปกครองกลางได้ทำการไต่สวนประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
นายศรีสุวรรณ กล่าวภายหลังการไต่สวนว่า องค์คณะตุลาการได้ให้คู่กรณีต่างชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงต่อศาล เมื่อไต่สวนเสร็จศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งเรียก ขสมก. และ บขส. เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ด้วย และให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถยื่นคำร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดได้ โดยศาลจะมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เชื่อมั่นว่า ศาลปกครองจะเห็นใจคนยากจนเพราะผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการเดินรถได้อยู่แล้ว หากขึ้นค่าโดยสารแม้เพียง 1 บาท คนยากจนที่ใช้รถประจำทางทุกวัน ก็ถือเป็นเงินจำนวนมาก ที่สำคัญราคาน้ำมันดีเซล กับก๊าซ LNG ยังไม่สูงขึ้นจนเป็นต้นเหตุให้ต้องขึ้นค่าโดยสารแต่อย่างใด ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานลูกจ้างเกือบ 50 % จะผลักภาระมาให้ประชาชนจึงไม่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งเรียกคืนสัมปทานการเดินรถของเอกชนที่หมดอายุมาดำเนินการเอง เพื่อที่จะได้นำไปสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบได้คล่องตัวรวดเร็ว
ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ขอขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สามารถปฏิรูปการเดินรถประจำทางได้ หากได้ขึ้นราคาค่าโดยสารตามอัตรารถใหม่ ทางสมาคมฯ ก็พร้อมที่จะนำรถใหม่กลับมาให้บริการในระบบภายใน 1-2 เดือน แต่หากยิ่งชะลอการขึ้นค่าโดยสาร ก็จะยิ่งมีรถร่วมให้บริการน้อยลงไปอีก โดยปัจจุบันมีข้อมูลผู้ประกอบการเลิกให้บริการเดินรถแล้ว 500-2,000 คัน ทำให้เหลือรถให้บริการในระบบเพียง 1,000 คันเท่านั้น เพราะไม่มีเม็ดเงินมาประกอบการต่อดังนั้นหากยังชะลอการขึ้นค่าโดยสารต่อไปอีก ผู้ประกอบการก็คงล้มหายตายจากไปจากระบบไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบและคำนวณผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ภายหลังที่มีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ เพราะคิดเป็นสัดส่วน 2% ของรายการที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อ เบื้องต้นอาจกระทบต่อเงินเฟ้อรวมไม่สูง เพราะค่าโดยสารกระทบต่อค่าใช้จ่ายประชาชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่อาจทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น และการปรับขึ้นราคาค่ารถโดยสารไม่ได้กระทบตรงต่อต้นทุนผลิตสินค้าโดยตรง เหมือนการปรับขึ้นของราคาพลังงาน ที่ทำให้รถขนส่งต้องปรับขึ้นค่าขนส่งต่างๆ ดังนั้นบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะใช้อ้างเพื่อปรับขึ้นราคาสินค้าและอาหารจานด่วนไม่ได้ การปรับค่าโดยสารสาธารณะ น่าจะมีกระทบต่อเงินเฟ้อไม่ถึง 1% แน่นอน และไม่เป็นปัจจัยกดดันเรื่องราคาสินค้า ไม่เหมือนราคาพลังงาน ราคาสินค้าเกษตร ค่าใช้จ่ายด้านมือถือ หรือค่าเช่าบ้าน ซึ่งรวมกันแล้วสูงถึง 40% ก็จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อโดยตรง.