ข่าวเชียงใหม่ฝุ่นพิษลดลง ฟ้าใสพายุฤดูร้อนพัดช่วย - kachon.com

เชียงใหม่ฝุ่นพิษลดลง ฟ้าใสพายุฤดูร้อนพัดช่วย
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตรวจสอบผ่านเครื่องวัดทั้งหมด 4 จุด พบว่าค่า pm2.5 เกินมาตรฐานในทุกจุด เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าระหว่าง 103-157 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าระหว่าง 51-73 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า PM10 พบว่าไม่เกินมาตรฐาน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 77-112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสรุปถือว่ายังมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ข้อมูลของทางเว็บไซต์ Airvisual.com พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ มีค่า AQI อยู่ที่ 171 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่สูง มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของโลก แม้ว่าเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในหลาย ๆ อำเภอ ทำให้ท้องฟ้าโปร่งใสขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และกระแสไฟฟ้าดับไปกว่า 10 อำเภอ แต่เช้านี้คุณภาพอากาศเรื่อง pm2.5 ก็ยังเกินอยู่ หากมีพายุฤดูร้อนพัดเข้ามาในพื้นที่อีก ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้เร็วขึ้น


ขณะเดียวกันที่ อาคาร SMEs ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ทางจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานต่างๆ นำกลุ่มนักศึกษาวิชาทหาร และกลุ่มนักศึกษา มาร่วมกันประกอบเครื่องกรองฝุ่นละออง pm2.5 จำนวน 300 เครื่อง โดยจะเน้นนำไปแจกจ่ายให้กับสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกล สถานศึกษาที่สอนเด็กพิเศษ รวมถึงมอบให้กับทางสาธารณสุขตำบลในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะได้จัดสร้างห้องเซฟตี้โซนไว้ดูแลผู้ป่วย และประชาชน สำหรับเป้าหมายในการสร้างเครื่องกรองฝุ่นละออง pm2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้น จะทำให้ครอบคลุมทั้งหมด 25 อำเภอ โดยจะทำเครื่องทั้งหมด จำนวน 1,008 ชุด เมื่อเสร็จสิ้นก็จะมีการส่งมอบทันที


สำหรับการป้องกันปัญหาไฟป่าในจ.เชียงใหม่นั้น ในวันที่ 28 เม.ย. นี้ ทางจังหวัดเตรียมสร้างป่าเปียกขึ้นในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะทำป่าเปียกให้เกิดขึ้น โดยป่าเปียกนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนกับแนวกันไฟ และเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ที่จะดูแลระบบนิเวศน์ภายในป่าไปพร้อมกัน เพราะป่าเปียกต้องประกอบไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำและต้นไม้ แต่หากพื้นที่ไหนที่ไม่มีแหล่งน้ำ ก็ต้องหาแหล่งน้ำใกล้เคียงและสามารถมีน้ำไหลผ่านเข้ามาดูแลในพื้นที่ทำป่าเปียกได้ เมื่อต้นไม้ต่าง ๆ โตขึ้น และสภาพพื้นที่ถูกฟื้นฟูเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ระบบนิเวศน์ภายในป่ากลับคืนมา และเมื่อเกิดไฟป่าเกิดขึ้น ป่าเปียกก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีไฟป่าลุกลามลงมายังหมู่บ้าน ชุมชน และบริเวณพื้นที่อื่นๆ ได้ รวมถึงยังมีแหล่งน้ำที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้ในการดับไฟป่าได้ด้วย ซึ่งหลังจากการทำป่าเปียกที่อำเภอเชียงดาวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะขยายไปพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ