เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย และอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อการระบิดและเกิดไฟไหม้สำหรับอาคารสูง โดยอากาศที่ร้อนจัดบวกกับการสะสมของก๊าซมีเทนจำนวนมาก ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินเสี่ยงต่อการระบิด โดยแบ่งเป็น 5 ข้อดังต่อไปนี้
1.ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมขนาดใหญ่ มักจะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไว้ในชั้นใต้ดินเพื่อประหยัดเนื้อที่ จากรายงานในอีไอเอส่วนใหญ่ทุกแห่งจะเริ่มต้นจากน้ำเสียมีปริมาณไม่เกิน 200 ลบ.ม./วัน และมีค่าบีโอดีหรือค่าปริมาณสารอินทรีย์ไม่เกิน 180 มก./ล. เข้าสู่บ่อดักไขมัน บ่อเกรอะ บ่อสูบน้ำ บ่อเติมอากาศ บ่อตกตะกอนตามลำดับโดยรวมทุกขั้นตอนจะมีก๊าซมีเทนเกิดขึ้นประมาณ 14,500 ลบ.ม/วัน ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจะถูกดูดรวบรวมไปสู่ปล่องระบายอากาศให้ออกไปนอกอาคาร
2.ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซไวไฟ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เบากว่าอากาศ จะลอยตัวได้ง่าย หากอากาศร้อนและมีความชื้นสูงจะทำให้เกิดการรวมตัวและสะสมจนมีความเข้มข้นสูงและจะติดไฟได้เองเมื่อมีอุณภูมิสูงถึง 55 องศาฯ ซึ่งทำให้เกิดการสะสมจนเกิดการระเบิดได้
3.ในห้องใต้ดินส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ค่อนข้างทึบ หากไม่มีการตักไขมันหรือดูดตะกอนน้ำเสียที่อยู่ในบ่อตกตะกอนออกไปกำจัดตามระยะเวลาที่ออกแบบไว้ และหากระบบดูดก๊าซภายในอาคารทำงานไม่ดีเพียงพอ จะทำให้ก๊าซมีเทนสะสมอยู่ปริมาณความเข้มข้นสูงมาก ประกอบกับเกิดความร้อนจากอุณภูมิของอากาศและจากที่พื้นดินและคอนกรีตดูดความร้อนไว้ ทำให้อุณหภูมิสูงถึง 55 องศาฯ จึงเกิดการสะสมจนติดไฟและทำให้เกิดไฟไหม้ได้
4.การป้องกันที่ดีคือต้องตักไขมันและดูดตะกอนออกไปกำจัดเป็นประจำ ตรวจสอบกำลังการดูดอากาศของพัดลมระบายอากาศ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าของปั๊มน้ำ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความร้อน ตรวจวัดค่าการสะสมของมีเทนและตรวจวัดค่าควันโดยต้องมีสัญญาณเตือน และควรใช้แนวทางความปลอดภัยของ NFPA 820 (National Fire Protection Association) หรือ Standard for Fire Protection in Waste water Treatment and Collection Facilitie ในการป้องกันการเกิดไฟไหม้ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
5.บ่อบำบัดน้ำเสียใต้ดินที่ตั้งอยู่นอกอาคาร หรืออยู่ในที่โล่งแจ้งไม่มีต้นไม้ปกคลุมก็มีความเสี่ยงสูงในการเกิดระเบิดได้ เนื่องจากก๊าซมีเทนสะสมในบ่อบำบัดน้ำเสียปริมาณมาก ไม่สามารถระบายออกมาได้หรือระบายได้น้อย ผสมกับความร้อนทั้งมาจากอากาศและความร้อนที่ระอุอยู่ใต้ดิน.
ขอบคุณข้อมูล : @Sonthi Kotchawat