ข่าวสุดสะเทือนใจผ่าซาก'เต่าตนุ' พลาสติก-โฟมแน่เต็มท้อง! - kachon.com

สุดสะเทือนใจผ่าซาก'เต่าตนุ' พลาสติก-โฟมแน่เต็มท้อง!
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ผู้สื่อข่าว "เดลินิวส์ออนไลน์" รายงานว่า โลกออนไลน์เกิดกระแสแชร์อย่างล้นหลาม ภายหลังจากที่ น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ หรือหมอแม็ค สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้โพสต์ภาพของการพบเศษพลาสติก หนังยางรัดแกง หลอด รวมไปถึงเศษเชือกและอวนอยู่ภายในท้องของ "เต่าตนุ" เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นกระแสแชร์ภาพสุดสะเทือนใจไปทั่วโลกออนไลน์

โดย "น.สพ.วีรพงษ์" ได้เผยกับ "เดลินิวส์ออนไลน์" เพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเคยเก็บกระแสน้ำไหลจากปากแม่น้ำทั่วกทม เจอว่าขยะหลายตันไหลลงทะเลจากแม่น้ำเหล่านี้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และเมื่อไม่นานมานี้ ตนและทีมแพทย์ได้ชันสูตรพ่อเต่าตนุยาวถึง 70 ซม. นอกจากนี้ ยังมีทีมสัตว์แพทย์จากโรงพยาบาลเต่าทะเล ก็ได้ชันสูตรเต่าทะเล อายุยังไม่ถึง 4 ปี โดยทั้งหมดพบว่า ในท้องของเต่า มีเศษพลาสติก โฟม หลอดดูดน้ำ เชือกอยู่เป็นจำนวนมาก จนรู้สึกเศร้าสะเทือนใจ ประกอบกับข้อมูลวิจัยและสถิติก็ยังพบว่า ใน 1 ปี เราจะพบซากเต่าตายประมาณ 300 ตัว โลมาประมาณ 200 ตัว พะยูนประมาณ 12 ตัวและวาฬประมาณ 3-5 ตัว หรือเฉลี่ยได้ใน 1 วันเราจะพบพวกเขาตาย 1-2 ตัว โดยที่ 30 เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำมือของมนุษย์ที่ทิ้งเศษขยะ รวมไปถึงอวนและเชือกต่างๆ



ตอนนี้ทีมสัตวแพทย์ก็มีอยู่เพียงไม่กี่คน เมื่อพบสัตว์ อาทิ เต่าที่เขาเจ็บป่วยจากการกินเศษพลาสติกหรือโฟมเข้าไป ถ้าโชคดีก็สามารถใช้ยาขับเศษเหล่านั้นออกมาได้ แต่ถ้าชิ้นใหญ่ ก็ไม่ไม่สามารถขับออกมาได้ จนสุดท้ายต้องทนเห็นเขาก็จะตายในที่สุด ซึ่งทีมแพทย์พบเรื่องแบบนี้ทุกวัน ก็ไม่รู้จะช่วยแก้ได้อย่างไรเพราะที่สามารถทำได้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

"แม็คชอบโดนพูดใส่ว่าทำไมต้องเรื่องเยอะ กับแค่หลอดเดียว ถุงเดียวจะอะไรนักหนา อย่ามาเว่อร์ ซึ่งคนอยู่ไกลทะเลก็จะบอกว่าฉันไม่ได้เกี่ยวข้อง ทำไมต้องลดขยะด้วย? แต่ในเมื่อขยะที่เราตั้งใจทิ้ง หรือไม่ได้ตั้งใจอย่างเศษพลาสติก หลอด เปลือกลูกอม หนังยางรัดแกง ไปจนถึงลูกโป่งที่หมดลมแล้ว ก็จะลงสู่แม่น้ำ หรือทะเล สุดท้ายก็จะไหลไปถึง "บ้าน" ของสัตว์ทะเล ทั้งพะยูน วาฬ เต่า โลมา ซึ่งสิ่งที่มันมาจากน้ำมือมนุษย์ทำให้เขาเดือดร้อน โดยที่สัตว์เหล่านั้นเขาอยู่ในประเทศไทย ที่ก็เป็นบ้านของเขาเช่นกัน และเขาอยู่มานานกว่ามนุษย์อีก ผมทำงานนี้มา 4 ปี ทุกปีมีจำนวนสัตว์ทะเลตายเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เราในฐานะมนุษย์จะทำลายทุกอย่างเลยหรอ หรือถ้าจะอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืนได้ไหม ในเมื่อทางภาครัฐอาจจะยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ก็อยากจะขอให้ทุกคนช่วยกันลดขยะเหล่านั้น หากหลายๆคนร่วมกันคนละเล็กละน้อย มันก็รวมกันเป็นการลดพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก" หมอแม็คกล่าวทิ้งท้าย...





ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Mac Laovechprasit,@กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,@โรงพยาบาลเต่าทะเล กองทัพเรือ