ข่าวชลประทานส่งน้ำสู้แล้งยาว นาปรังรอดแต่อย่าปลูกเพิ่ม - kachon.com

ชลประทานส่งน้ำสู้แล้งยาว นาปรังรอดแต่อย่าปลูกเพิ่ม
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s



นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
เปิดเผยถึงแผนการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่เขตชลประทานทั่วประเทศเพื่อบริหารน้ำในเขื่อนที่มีอยู่ 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในปีนี้ ฤดูแล้งมาเร็ว และฤดูฝนมาช้า กรมชลประทานจึงต้องเตรียมแผนรับมือโดยจัดสรรน้ำสำหรับพื้นที่ 21 จังหวัด ในลุ่มเจ้าพระยา 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม และพื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 ในเขตชลประทาน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือพื้นที่นอกเขตชลประทาน เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคนอก 26 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 1.พื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงนอกเขตชลประทาน 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด 2.พื้นที่คาดว่าจะเริ่มมีปัญหานอกเขตชลประทาน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา เลย ชัยภูมิ กาญจนบุรี และราชบุรี 3.พื้นที่ที่เฝ้าระวังนอกเขตชลประทาน 17 จังหวัด อาทิ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ นครพนม หนองบัวลำภู



ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือ กรณีมีพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำต้นทุน กรมชลประทานจะสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ หากมีการร้องขอจะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำสาธารณะ แหล่งน้ำธรรมชาติ  และทางขักน้ำให้พร้อมใช้งานเพื่อช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจพื้นที่เกษตรกรรมเสี่ยงการขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน ครอบคลุม 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งปริมาณน้ำมีเพียงพอ สำหรับปลูกพืชตามมาตรการ ไม่มีการเพาะปลูกเพิ่มเติม ส่วนพื้นที่ทำนารอบ 2 พบว่า ในเขตชลประทาน จำนวน 32 จังหวัด ปลูกเกินแผน 1,186,336 ไร่ และนอกเขตชลประทาน มี 7 จังหวัด ปลูกเกินแผน 133,702 ไร่ รวมทั้งประเทศ 36 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,320,038 ไร่



การทำนาเกินแผนอาจได้รับความเสียหาย แต่กรมชลประทานหามาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ครบถ้วน โดยจัดสรรน้ำให้ 2 เดือน แบ่งรอบจ่ายเป็นรายสัปดาห์เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 อีกทั้งจะควบคุมการรับน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากนั้นจะทำความเข้าใจกับชาวนา อย่าทำนาต่อเนื่องภายหลังการเก็บเกี่ยว แต่ให้เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงเกษตรฯ ขณะนี้มีเกษตรกรลงทะเบียนแล้วรวมพื้นที่ 7-8 แสนไร่ เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำแค่ 1 ใน 3 ของทำนาข้าว หรือเกษตรกรจะปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่น ๆ ก็ได้ เช่น พืชผัก พืชไร่ต่าง ๆ โดยช่วยอุดหนุนให้สินเชื่อไร่ละ 2,000 บาท โดยได้รับรายละไม่เกิน 15 ไร่ ในอัตราดอก 0.01 เปอร์เซ็นต์



ส่วนการบริหารจัดการน้ำนอกเขตชลประทาน ทางกรมชลประทานจะเน้นการจัดส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่เฝ้าระวัง 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยภูมิ เลย กาญจนบุรี ราชบุรี และนครราชสีมา โดยจะชักน้ำจากแหล่งน้ำของกรมชลประทาน หรือใช้วิธีสูบใส่รถบรรทุกนำไปส่งตามจุดต่าง ๆ หรือสนับสนุนเครื่องสูบน้ำให้กับหน่วยงานท้องถิ่นในรูปแบบการช่วยเหลืออย่างเต็มที่และเต็มรูป เพื่อไม่ให้ประชาชนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ
สำหรับการแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในด้านต่างๆ กรมชลประทานได้ประสานกับราชการต่างๆ กองทัพ กระทรวงมหาดไทย จัดทำบัญชีรายตำบล อำเภอ ปริมาณน้ำบ่อบาดาล ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก หาแหล่งน้ำใกล้เคียง มาช่วยเหลือพร้อมรถบรรทุกน้ำไว้แล้วเข้าถึงพื้นที่ทันท่วงที รวมถึงยังได้วางแผนเพื่อรองรับฤดูแล้งยาวไปถึงฤดูแล้วหน้าด้วย โดย นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯลงช่วยเหลือเกษตรกร ทุกพื้นที่และช่วยดูแลการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตไม่เสียหาย



อธิบดีกรมชลประทานยังกล่าวในตอนท้ายว่า กรมชลประทานได้วางแผนยาวไปถึงฤดูแล้งหน้าด้วย ในการคาดการณ์ เมื่อฝนมาล่าช้าแล้วยังมีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,200-1,300 มิลลิเมตร จากฝนเฉลี่ยทั้งประเทศในปีปกติ 1,400 มิลลิเมตร ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาปรับแผนการบริหารจัดการน้ำสามารถผ่านฤดูแล้งนี้ไปได้ โดยให้สอดคล้องกันกับปริมาณน้ำในเขื่อนและจัดหาน้ำให้พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ประสบปัญหาเพื่อช่วยบรรเทาภัยให้กับประชาชนและเกษตรกร ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับทุกหน่วยงานบูรณาการลงช่วยเหลือทุกพื้นที่อย่างทันท่วงที่ผ่านพ้นภัยแล้งไปให้ได้ แต่ทั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปีหน้าด้วย.