ข่าว'อุไร ทองปาน' ใช้บัญชีเป็นหัวใจหลักสู่ความสำเร็จ - kachon.com

'อุไร ทองปาน' ใช้บัญชีเป็นหัวใจหลักสู่ความสำเร็จ
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

ก่อนที่จะพลิกชีวิตมาทำการเกษตรอย่างเต็มตัวเหมือนในปัจจุบัน ครูอุไรเริ่มต้นชีวิตการทำงานเหมือนคนในเมืองหลวงทั่วไป เป็นพนักงานประจำในบริษัทเอกชน ถึงแม้จะมีรายได้สูงแต่รายจ่ายต่างๆก็สูงตาม ทำให้ไม่เหลือเงินเก็บออม จึงตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตในเมือง กลับมาทำการเกษตรกับสามีที่บ้านเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช โดยทำบ่อกุ้งและเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุน เพราะใช้ต้นทุนสูงและยังไม่รู้หลักในการบริหารจัดการ



จนกระทั่งได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ประกอบกับได้รับการอบรมสอนแนะการจดบันทึกบัญชีในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครศรีธรรมราช ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมีระบบ รู้จักคำนวณต้นทุน กำไร โดยวิเคราะห์จากการทำบัญชีและนำมาปรับเปลี่ยนการผลิตในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งการทำนา ปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ การปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งในสวนปาล์มได้แบ่งพื้นที่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูหลุม ซึ่งสามารถกินผลปาล์มน้ำมันเป็นอาหารได้ รวมถึงกินหอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูของต้นข้าวและกินข้าวเปลือกที่หลงเหลืออยู่ในนาข้าวหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าอาหารสัตว์

นอกจากนั้น ยังมีการปลูกไม้ไผ่ด้วยมูลเป็ด มูลไก่ มูลหมู เป็นปุ๋ยให้กับต้นปาล์ม ต้นไผ่ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ การทำปุ๋ย ทำน้ำหมัก ไว้ในครัวเรือนและชุมชน เพื่อการลดต้นทุน อีกทั้งปลูกพืชผัก สมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้ในการประกอบอาหารในครัวเรือนแทนการใช้เงินซื้อ ซึ่งผลผลลิตที่เหลือ ยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้ นอกจากนี้ ยังคิดแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การทำไข่เค็ม จากการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง การเลี้ยงปลานิล แปรรูปเป็นปลาเส้นจำหน่าย การเลี้ยงปูนา แปรรูปเป็นปูเค็มจำหน่าย การทำหน่อไม้ดอง พริกขี้หนูแห้ง เป็นต้น ซึ่งสามารถขายเป็นสินค้าสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง



จากการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหัวใจสำคัญ คือ “การทำบัญชี” มีการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายในแต่ละวัน และนำข้อมูลจากการจดบันทึกบัญชีมาวิเคราะห์วางแผน ทำให้สามารถ รู้ความเป็นไปในครอบครัวได้อย่างแท้จริง สามารถหาปัจจัยในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตได้ โดยการนำทุนธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่มาต่อยอดในเกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม วางแผนการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และวางแผนการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

จากความสำเร็จนี้ จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชี) ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เมื่อปี 2556 และต่อยอดความรู้การทำบัญชีไปให้คนในชุมชน ใช้เทคนิคการสอนคือ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แนะนำเรื่องเกี่ยวกับการหารายรับ การใช้จ่ายเงิน การประหยัดอดออม และสอดแทรกการจดบันทึกบัญชีไปตามกิจกรรมการดำเนินชีวิตของแต่ละครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการทำบัญชีได้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งพัฒนาให้เกิดเป็น“ชุมชนคนรักการทำบัญชี”หมู่ที่ 6 บ้านหว้าใหญ่ ต.ไสหมาก อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช อีกทั้งครูอุไรยังได้พัฒนาพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ปัจจุบันคือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.ไสหมาก อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งครูอุไรจะเป็นวิทยากรสอนแนะการทำการเกษตรต่างๆ รวมถึงการแนะนำเรื่องการจดบันทึกบัญชีรับจ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน



“การทำบัญชีเป็นหัวใจหลัก ถ้าเราจดทุกครั้งเราจะรู้กำไร ขาดทุน จะรู้ว่าควรปลูกอะไรมากหรือน้อยแค่ไหน ทำอะไรจะประสบความสำเร็จ จะได้กำไรทุกเรื่อง เราก็ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำบัญชีที่เราทำจนประสบความสำเร็จให้แก่เกษตรกรที่เข้ามาศูนย์เรียนรู้ฯ ยกตัวอย่างให้เห็น เช่น การทำนาข้าว ลงทุนเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ เปรียบเทียบทุกครั้งจะได้รู้ ว่าควรจะลดหรือเพิ่มอะไรบ้าง จากการทำบัญชีอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ วันๆ หนึ่ง เราแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพราะในศูนย์เรียนรู้ฯ เรามีกินทุกอย่าง เหลือจากกิน ก็นำมาขาย สร้างรายได้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทำให้เราประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง”ครูอุไร กล่าว

เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างของครูบัญชีที่ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านบัญชี มาเป็นกลไกเข้าถึงแก่นแท้ของความพอเพียง สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้กับตนเองและคนในชุมชน.