ข่าวสอว.เตรียมปรับปศุสัตว์ไทยด้วย Smart Farm - kachon.com

สอว.เตรียมปรับปศุสัตว์ไทยด้วย Smart Farm
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้จับมือกับสองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.ปรกต รุ่งศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลม้าและการจัดการระบบฟาร์มม้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ ผศ.ดร.เวชยันต์ รางศรี อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ พัฒนาระบบดูแลฟาร์มม้าออนไลน์ โดยนำเซ็นเซอร์และเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายมาใช้ตรวจวัดและแจ้งรายงานสภาวะแวดล้อม



โดยสามารถรายงานการวัดค่าอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มข้นของแอมโมเนีย (ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของม้า) จากนั้นข้อมูลจะถูกจัดเก็บในรูปแบบออนไลน์บน cloud server สามารถดึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่เชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อติดตาม ตรวจสอบสภาพแวดล้อมในฟาร์ม รวมทั้งยังมีความสามารถในการแจ้งเตือนได้ทันทีเมื่อพบความผิดปกติของปัจจัยที่ทำการติดตามผล เพื่อให้ผู้ใช้งานระบบนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจดูแลจัดการแก้ปัญหาฟาร์มม้าได้อย่างทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ โดยระบบดังกล่าวสามารถลดอัตราความเสี่ยงการเกิดโรคของม้าจากความเจ็บป่วยเนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อมได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์และยังสามารถลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงจากต่างประเทศได้อีกด้วย



น.ส.ทิพวัลย์  กล่าวต่อว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญ ชมรมขี่ม้าลัดดาแลนด์ เป็นเอกชนผู้จำหน่ายอุปกรณ์และให้บริการสำหรับการดูแลและการขี่ม้า รวมทั้งจัดการแข่งขัน ที่ได้รับบริการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและการวิจัยผ่านโครงการ IRTC (Industrial Research and Technology Capacity Development Program) จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนในด้านจัดหาแหล่งทุนในการช่วยสร้างผลผลิตนวัตกรรม ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาการทำปศุสัตว์แบบเดิมโดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษามาสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตอบโจทย์ความต้องการให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาเกษตรไทยในยุค 4.0



ทั้งนี้ จากความสำเร็จดังกล่าวยังมีแผนในการพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับการจัดการฟาร์มปศุสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาทิ สุกร โคเนื้อ กระบือ โคนม แพะ แกะ และสัตว์ปีก เพื่อขยายผลปรับโฉมฟาร์มปศุสัตว์ไทยด้วยสู่สังคม Smart Farm อย่างยั่งยืน

ด้านนายดิษฐกร พันธาภา เจ้าของผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนสามัญ ชมรมขี่ม้าลัดดาแลนด์ กล่าวว่า ม้านับเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงและใช้งานในประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเพื่อการแข่งขันและกีฬา โดยปัจจุบันนิยมนำม้าจากสายพันธุ์ต่างประเทศที่ไม่ใช่แถบร้อนชื้นเข้ามาเลี้ยงเพื่อทำการแข่งขัน ทำให้ม้าต้องปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และหากไม่ได้รับการใส่ใจดูแลอย่างเหมาะสม อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคและตายในที่สุด ทั้งนี้ ฟาร์มม้าลัดดาแลนด์จึงร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือและนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาระบบดูแลม้าออนไลน์ขึ้นโดยระยะแรกเริ่มทดลองใช้กับฟาร์มต้นแบบที่มีลักษณะโรงเรือนแบบเปิด ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศร้อนจัดในช่วงเดือน มี.ค. –เม.ย. และสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงฤดูฝน เดือน พ.ค. – ก.ค.ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ



หากเป็นม้าขี่เพื่อการกีฬากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางหรือเพื่อศิลปะบังคับม้าที่ต้องการความสมบูรณ์และสมรรถภาพที่พร้อมสำหรับการแข่งขันอาการหวัดจะทำให้ม้าเหนื่อยง่าย สูญเสียเหงื่อและเกลือแร่เนื่องจากอากาศร้อน ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองเพราะมีการสะสมของเสียจากก๊าซแอมโมเนียจากการขับถ่ายของม้า ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุตา จมูก หลอดลมและปอด มีการขับเมือกและหากเป็นม้ากีฬาจะมีผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ทำให้ปอดและหัวใจทำงานหนักขณะแข่งขันและหากร่างกายไม่สมบูรณ์จากปัจจัยของสภาพแวดล้อมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการกีฬาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเอาใจใส่ดูแลควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตั้งแต่อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแอมโมเนียในอากาศ ผ่านการบริหารจัดการและดูแลอย่างเหมาะสม ทั่วถึง และทันท่วงที จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เลี้ยงม้ายุคใหม่ควรรู้และเข้าใจ




ทั้งนี้ น.ส.ทิพวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สอว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา นำทรัพยากรของรัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจในทุกด้านผ่านการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม