แพทยสภาร่ายยาวไขสงสัย เอาผิดหมอเอี่ยวยาลดอ้วน
ข่าวประจำวัน
กรณีตำรวจบุกจับน.ส.วิไรรัตน์ อุตทอง อดีตสาวแม็กซิม หลังร่วมกับแพทย์ 2 คนตัวการใหญ่ผลิตยาลดความอ้วน ทำให้มีผู้บริโภคจนเสียชีวิต และยังนำยาลดความอ้วนขายนอกระบบผ่าน 9 คลินิกความงามทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งอย.ได้เรียกสอบแพทย์ในวันที่ 19 มี.ค.62
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 15 มี.ค. พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก @Ittaporn Kanacharoenระบุว่า แพทยสภาได้ติดต่อตรงกับ อย. แม้ทุกฝ่ายจะเห็นประเด็นความผิด แต่ยังไม่เพียงพอที่จะตั้งดำเนินการสอบสวน จึงทำจดหมายขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยัง อย. เพื่อขอชื่อและพฤติกรรมวิสัยในการดำเนินการทางคดีจริยธรรมตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่รักษาคนไข้แล้วมีผู้เสียหาย แพทยสภาดำเนินการได้เอง เพราะกรณีล่าสุดนี้มิใช่เรื่องของการรักษาพยาบาล แต่เป็นความผิดจากกฎหมายอื่น คือพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทฯ ซึ่งอยู่ในการดูแลของ อย. ทำให้เข้าข่ายอาจผิดจริยธรรมในข้อ ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้นจำเป็นต้องรอหลักฐานจากหน่วยงานรัฐ คือ อย. จึงจะครบองค์ประกอบดำเนินการทางจริยธรรม
“ที่น่าสนใจคือ การซื้อยาควบคุมซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททุกครั้ง จะมีการทำทะเบียนการซื้อ และทำเรื่องขออนุมัติ กับหน่วยงาน คือ อย. อย่างเข้มงวดและรัดกุมโดยทุกครั้ง ต้องส่งรายชื่อผู้ที่ใช้เพื่อขออนุญาต ซื้อยาในแต่ละงวด ดังนั้นหากสั่งซื้อได้ย่อมต้องมีหลักฐาน กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นครบ หากผิดแปลว่าหลักฐานที่ ปรากฏย่อม ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยาถึงถูกนำออกนอกระบบได้” เลขาธิการแพทยสภา ระบุ
นพ.อิทธพร เปิดเผยอีกว่า การเบิกจ่ายนั้น ต้องมาจากสถานพยาบาสั่งซื้อ และมีลายเซ็นแพทย์เป็นผู้ขอซื้อยา จึงเกี่ยวพันกับกฎหมายอีกฉบับ คือพ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งมีกรมสนับสนุนบริการเป็นผู้ดูแล และหากไม่จ่ายให้กับผู้ป่วย หรือทำทะเบียนปลอม ผู้รับผิดชอบย่อมจะผิดตามกฎหมายสถานพยาบาลด้วย อยู่ในความรับผิดชอบของอธิบดีกรมสนับสนุนบริการฯ ด้วยความเกี่ยวพันกันถึง 3 กฎหมาย ผู้รักษากฎหมายคือตำรวจ กรณีนี้จึงพัวพันหลายองค์กร อาจจะสับสนได้ง่าย ตัวแพทย์เป็นปลายทางของคดีนี้ ต้องไปพิสูจน์ก่อนว่าใครที่ลงนามเบิก และเป็นตัวจริงหรือถูกปลอมลายเซ็นโดยกลุ่มมิจฉาชีพ และยังมีข่าวว่ามีการปลอมลายเซ็นแพทย์ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วไปเบิกยา ซึ่งอย. จะเป็นผู้ตรวจสอบก่อน ดังนั้นการดำเนินการจึงต้องรอหลักฐานสำคัญให้ครบองค์ประกอบ
“ที่บอกว่าแพทยสภารอหลักฐานจาก อย. นั้นเป็นขั้นตอนปกติ บางสื่ออาจจะเข้าใจผิดไปลงว่าแพทยสภา เร่ง หรือจี้ การทำงาน อย. ซึ่งไม่จริงเลยครับ แต่ต้องรอด้วยเหตุผลที่บอก เมื่อพิสูจน์แล้วบางคนอาจเป็นตัวการ บางคนอาจไม่รู้เรื่องถูกปลอมหลักฐานมา ซึ่งโทษไม่เท่ากัน และการลงโทษอาจจะได้เพียงป้องปรามไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น” เลขาธิการแพทยสภา ระบุ
นพ.อิทธพร สรุปไว้ว่า สิ่งที่อยากให้ช่วยกันคิดคือทำไมมีความต้องการ จนเกิดการจัดหา ทำไมมีผู้พยายามทำผิดในยากลุ่มนี้ ปัญหาอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจของประชาชน คนไม่เข้าใจถึงอันตราย แสดงว่าสื่อของรัฐให้องค์ความรู้ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากต้นเหตุ ประเด็นที่สำคัญที่สุดอยากให้สื่อนำเสนอความรู้เหล่านี้ ประกอบกับข่าวให้กับสังคมพร้อมกันด้วย จะเป็นประโยชน์มาก.
ขอบคุณแหล่งที่มา @Ittaporn Kanacharoen