ข่าว'ประมง'ยัน'กระเบนนก' กินได้ไม่ผิดกม.-แต่ควรอนุรักษ์! - kachon.com

'ประมง'ยัน'กระเบนนก' กินได้ไม่ผิดกม.-แต่ควรอนุรักษ์!
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

กลายเป็นดราม่าร้อนแรงในโลกออนไลน์ขณะนี้ หลังรายการแข่งขันทำอาหารชื่อดังอย่าง "มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย" ซึ่งเดินทางมาถึงซีซั่นที่สามที่เพิ่งออกอากาศไปใน EP 5 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา กับการแข่งขันรอบความคิดสร้างสรรค์หรือ Invention Test โดยมีโจทย์วัตถุดิบในการทำอาหาร คือ "ปลากระเบน" แต่เรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หลังผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ปลากระเบนที่ทางรายการกล่าวนำมาใช้ทำอาหารคือ "ปลากระเบนนก" หรือ "Eagle Ray" ซึ่งถือเป็นสัตว์หายากในท้องทะเลไทยและท้องทะเลโลก โดยภายหลังทางรายการได้ออกมาชี้แจงว่า"มาสเตอร์เชฟฯ" ออกหนังสือชี้แจง ปลากระเบน มีขายตามท้องตลาด ไม่ใช่รายการแรกนำมาเป็นวัตถุดิบ ยันไม่มีนโยบายนำสัตว์ต้องห้ามมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. "กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง" ได้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ ระบุ "กรมประมงแจงประเด็นเดือดโลกโซเชียล "กระเบนนก" ย้ำไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรช่วยกันอนุรักษ์มากกว่านำมาบริโภค" กรมประมงแจงข้อสงสัยจับปลากระเบนนกมารับประทานผิดกฎหมายหรือไม่? กรมประมงเผยชัดไม่ผิดกฎหมายแต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรเนื่องจากสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้เป็นสัตว์น้ำชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับท้องทะเลมากกว่านำมา
บริโภค

โดยนายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณีปลากระเบนที่ปรากฏอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหาร จากการตรวจสอบ มี 2 ชนิดพันธุ์คือ กระเบนหิน และ กระเบนนกจุดขาวสำหรับปลากระเบนนกจุดขาว หรือปลากระเบนค้างคาว หรือ ปลากระเบนยี่สนอยู่ในวงค์ปลากระเบนนก (Myliobatidae) เป็นปลากระเบนทะเลที่พบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงน่านน้ำประเทศไทยที่สามารถพบเห็นได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีลักษณะเด่น มีผิวหนังเรียบ ด้านหลังมีสีดำมีจุดขาวกระจาย ด้านท้องมีสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระเหมือนนกบิน มีขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยพบสูงสุดถึง 3 เมตร น้ำหนัก 230 กิโลกรัม อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามชายฝั่งทะเลแนวปะการัง ส่วนปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำ กินปลาขนาดเล็กหอยปลาหมึกกุ้งและปูเป็นอาหาร



สำหรับในประเทศไทยปลากระเบนนก เป็นสัตว์น้ำพลอยได้จากการทำประมงไม่อยู่ในเป้าหมายการจับของชาวประมง และไม่มีเครื่องมือที่ใช้จับเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าปลากระเบนนกจะเป็นสัตว์น้ำที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหรือบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกจำนวน 1,038 ชนิด ขึ้นใน IUCN Red List "สำหรับปลากระเบนนกชนิดนี้แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)" โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี IUCN Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์เนื่องจากการประเมินสถานภาพพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว 

ดังนั้นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้ลดน้อยลงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงหากจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจขอให้ช่วยกันปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดมาตรการในการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเน้นการทำการประมงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำเป็นเรื่องที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากสัตว์น้ำบางชนิดถึงแม้อาจไม่ใช่สัตว์น้ำเศรษฐกิจและไม่ถูกนิยมมาบริโภค แต่ก็สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี...






ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง

ติดตามข่าว "กระเบนนก" ได้หมดที่นี่...คลิก