ข่าว103ปีสหกรณ์ไทยวางเป้า โปร่งใส-สะดวก-ทันสมัย - kachon.com

103ปีสหกรณ์ไทยวางเป้า โปร่งใส-สะดวก-ทันสมัย
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s




จากสภาพปัญหาเกษตรกรยากจนถูกเอารัดเอาเปรียบปลายยุครัชกาลที่ 5 เนื่องจากขาดเงินทุน ทางราชการจึงช่วยเหลือโดยการหาเงินทุนมาให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้รับคำแนะนำจากเซอร์เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ หัวหน้าธนาคารแห่งมัทราส แห่งประเทศอินเดีย ให้จัดตั้งสมาคมที่เรียกว่า โคออเปอราทีฟ โซไซเอตตี้ (Cooperative Society) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและช่วยเหลือกันระหว่างเกษตรกรที่ขาดโอกาสเข้าถึงเงินทุน



โดยพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงบัญญัติศัพท์ในภาษาไทยว่า “สมาคมสหกรณ์” และศึกษาวิธีการจัดตั้งและบริหารสหกรณ์ในปี พ.ศ.2457
กระทั่งในปี 2458 พระองค์ได้ทรงปรับปรุง “กรมสถิติพยากรณ์” เป็น “กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์” ซึ่งดูแล 3 หน่วยงานประกอบด้วย การพาณิชย์ การสถิติพยากรณ์ และการสหกรณ์ เพื่อรองรับการจัดตั้งสหกรณ์ในประเทศไทย โดยเลือกรูปแบบสหกรณ์ไรฟ์ไฟเซนในเยอรมัน เนื่องจากมีขนาดเล็ก มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรยากจนรายย่อยได้กู้เงิน และให้ดูแลกันเองโดยคนในชุมชน

จากนั้นทรงเลือกพื้นที่ จ.พิษณุโลก จัดตั้ง “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2459 ถือว่าเป็นสหกรณ์แห่งแรกของไทย และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก พระองค์ได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาสหกรณ์ไทย” ต่อมาวันที่ 9 ต.ค.2527 ครม.มีมติกำหนดให้วันที่ 26 ก.พ.ของทุกปีเป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ



นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บอกว่า สหกรณ์ทั่วประเทศได้ร่วมกันทำกิจกรรมเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระบิดาสหกรณ์ไทย ผู้ทรงมีวิสัยทัศน์ในการนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ยากไร้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจได้รวมตัวกันเพื่อพึ่งพาตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนเกิดความเข้มแข็ง สำหรับในปีครบรอบ 103 สหกรณ์ไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์จะมุ่งส่งเสริมบทบาทสหกรณ์ภาคการเกษตรในการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้ที่มั่นคงในการประกอบอาชีพ





นอกจากนี้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่ที่จะเริ่มบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับขบวนการสหกรณ์ ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะต้องมีความรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับสหกรณ์และสมาชิก แต่กระนั้นยังไม่อยากให้สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รู้สึกวิตกกังวลกับหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะออกมา เพราะก่อนที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะยกร่างกฎกระทรวงนั้น กรมฯจะร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเปิดเวทีประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นของสหกรณ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสม นั่นคือ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ให้พอดี ๆ แต่ต้องมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ และจะกำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้ เพื่อให้สหกรณ์ต่าง ๆ มีเวลาปรับตัวได้ทัน



“อยากให้สหกรณ์เครดิตยูเนียน และสหกรณ์ออมทรัพย์ ออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกันมาก ๆ เพราะกฎกติกาต่าง ๆ ออกมาเพื่อรับใช้สมาชิกและสหกรณ์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด จะไม่มีการออกกฎกระทรวงที่ทำให้สหกรณ์ประกอบกิจการไม่ได้ เราจะต้องเดินไปด้วยกัน”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวพร้อมกับระบุว่า เกณฑ์กำกับสหกรณ์เครดิตยูเนียน และสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่อยู่ร่างกฎกระทรวงมี 13 เรื่อง และระเบียบนายทะเบียนอีก 3 เรื่อง โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับภายใน 2 ปี เพื่อให้สหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทนี้มีเวลาปรับตัวได้ทัน''