ข่าวถ้ามีจนท.ใช้พื้นที่หน้าบ้านเราปักเสาไฟ ? - kachon.com

ถ้ามีจนท.ใช้พื้นที่หน้าบ้านเราปักเสาไฟ ?
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
คงไม่มีใครรู้ว่า ถ้าอยู่ๆมีเจ้าหน้าที่มาปักเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน หรือกินพื้นที่เรา ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของเรา เราสามารถเรียกร้องหรือทำอะไรได้บ้าง ? เราจะมีสิทธิรู้ล่วงหน้าหรือไม่นานแค่ไหน ? กินพื้นที่เท่าไหร่ ?และสามารถคัดค้านก่อนดำเนินการได้หรือเปล่า? ต้องไปที่ไหน? เกิดคำถามตามมาไม่หยุดหย่อน จากคำถามทั้งหมดนี้ ในความเป็นจริงมีหนึ่งหน่วยงานที่วางระบบระเบียบ และข้อบังคับตามกฎหมาย ให้ประชาชนอย่างเรา ๆ ยื่นเรื่องร้องเรียนได้ อุทธรณ์คำสั่งได้หากมีการขอใช้พื้นที่ หรือ ขอใช้สิทธิรับค่าทดแทนที่เป็นธรรมก็ได้ หน่วยงานนั้นคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่ต้องดูแลให้ความเป็นธรรมประชาชนและมีผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ในภาพใหญ่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไปยังสถานีไฟฟ้า ผ่านสายส่งไปยังผู้ใช้ไฟ โดยจำต้องปักเสาไฟในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการขอใช้ที่ดินและทรัพย์สินเพื่อดำเนินงานระบบโครงข่ายพลังงานนั้น พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานพ. ศ. 2550 กกพ.ได้กำหนดบทบาทและข้อบังคับไว้ชัดเจน ว่าการใช้ที่ดินและทรัพย์สินเกี่ยวกับระบบโครงข่ายธรรมชาติมีอยู่ 2 วิธีคือ 1.การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีความจำเป็นที่ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือต้องใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างระบบโครงข่ายพลังงานหรือสิ่งปลูกสร้าง ในที่นั้นๆ และ 2.การรอนสิทธิและการใช้สิทธิเหนือที่ดินของผู้อื่น โดยไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินยังคงมีกรรมสิทธิ์อยู่เช่นเดิม เพียงแต่จะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดมาตรการเท่านั้น



เมื่อเราไปดูรายละเอียดของการรอนสิทธิ กกพ.ได้วางขั้นตอนไว้อย่างเป็นระบบว่า จะต้องมีการประกาศเขตสำรวจระบบโครงข่ายพลังงาน และเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้กำหนดแนวเขตหรือที่ตั้งของระบบโครงข่ายพลังงานโดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วทางสำนักงาน กกพ.จะทำการประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายพลังงาน โดยปิดประกาศไว้หน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่ว่าการอำเภอหรือที่ทำการ กำนันและผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ที่โครงข่ายระบบพลังงานจะตั้งอยู่ และต้องประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อย 1 ฉบับไม่ต่ำกว่า 3 วันเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่รับทราบ
ผู้รับใบอนุญาตจะเข้าไปดำเนินการได้ ก็จะต้องดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมทั้งจะต้องมีหนังสือแจ้งให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทราบอย่างเป็นทางการทุกราย ห้ามล่าช้า แต่หากเจ้าของพื้นที่ไม่เห็นด้วยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์การประกาศกำหนดเขตโครงข่ายพลังงานได้ ซึ่งจะต้องทำการอุทธรณ์ภายในเวลา 30 วัน ซึ่งประชาชนสามารถอุทธรณ์ได้ทั้งประกาศ อุทธรณ์ค่าทดแทนหรือคัดค้านการก่อสร้างโครงการพลังงาน และคัดค้านตำแหน่งที่ตั้งเสาไฟฟ้าหรือคัดค้านการตัดฟันต้นไม้หรือคัดค้านรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง ก็ได้

โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ 2 วิธีคือ 1 ยื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเองที่สำนักงานกกพ.ที่อาคารจามจุรีสแควร์ หรือยื่นอุทธรณ์ทางจดหมายพร้อมแนบเอกสารหลักฐานที่จำเป็นต่อการอุทธรณ์ส่งมาที่สำนักงานกกพ. ซึ่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการถือว่าเป็นที่สุด

ขณะที่การจ่ายค่าทดแทนการรอนสิทธินั้น ผู้ได้รับอนุญาตโครงข่ายพลังงาน จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเหล่านี้ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นอย่างเป็นธรรมตามประกาศคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เรื่องกำหนดจ่ายค่าตอบแทนพ. ศ. 2552
ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่า “การดูแล ใส่ใจ” และให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ของ กกพ. ได้วางหลักไว้อย่างเป็นระเบียบไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันการดำเนินการด้านพลังงานก็เดินหน้าไปได้มีทางออก ทั้งหมดเพื่อความยั่งยืนเรื่องพลังงานในบ้านเรา