ข่าว'ครูบาอริยชาติ'ถือเป็นเกียรติมงกุฏทองคนศรัทธาสร้างให้ - kachon.com

'ครูบาอริยชาติ'ถือเป็นเกียรติมงกุฏทองคนศรัทธาสร้างให้
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. จากกรณีปรากฎภาพ พระภาวนารัตนญาณ (ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต) เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เข้ารับการประกอบพิธียกยอราชครูแห่งเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยมีการสวมมงกุฎที่ทำจากทองคำแท้หนัก 32 บาท แผ่นทองคำบริเวณบ่าซ้ายหรือสังฆาฏิหนัก 10 บาท และสุพรรณบัตร 5 บาท  รวมทองคำหนัก 47 บาท และปรากฎในโซเชียลมีเดีย และทางพระรัตนมุนี (ปุณณมี วิสารโท) รักษาการเจ้าคณะ จ.เชียงราย ได้มีคำสั่งให้เจ้าคณะอำเภอแม่สรวย ตั้งคณะทำงานดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีหนังสือชี้แจงโดยให้รายงานผลต่อเจ้าคณะจังหวัดภายในวันจันทร์ที่ 25 ก.พ.นี้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

ด้านบรรยากาศที่วัดแสงแก้วโพธิญาณพบว่าบรรดาศรัทธาญาติโยมและนักท่องเที่ยวเดินทางไปกราบสักการะและนมัสการครูบาอริยชาติอย่างเนืองแน่นเช่นเดิม ขณะที่มงกุฏและวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่กุฏิของครูบาภายในวัด โดยทางครูบาอริยชาติได้ออกมารับญาติโยมที่มีความเป็นห่วงและมีทั้งผู้เดินทางไปสอบถามเรื่องราวหรือแม้แต่พระผู้ใหญ่จากเมืองยองหรือในประเทศไทยโทรศัพท์ไปสอบถามกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครูบาอริยชาติเพิ่งออกจากการปฏิบัติธรรมเข้าอธิฐานจิตเข้ากรรมฐานในป่านาน 3 วัน ทำให้เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าว



ครูบาอริยชาติ กล่าวว่า พิธีดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องในวันมาฆบูชา และทางวัดพระธาตุเมืองยองได้จัดขึ้น โดยมีเมืองใหญ่จาก 8 เมืองเข้าร่วม เช่น เมืองไฮ เมืองท่าขี้เหล็ก เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองปันนา ประเทศจีน เป็นต้น พุทธศาสนิกชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน พิธีมีพระสังฆราชาและพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งผู้บริหารและพุทธศาสนิกชนที่เมืองยองร่วมกันจัดขึ้น และได้เชิญครูบาไปรับมอบสมณะศักดิ์ชั้นราชครู มีการจัดพิธีเป็นพิเศษที่วัดพระธาตุเมืองยอง และมีการจัดหอเดื่อ การสรงน้ำ จากนั้นมีการมอบมงกุฏ สังฆาฏิและสุวรรณบัตรชั้นราชครูให้ซึ่งตามประเพณีดังกล่าวก็จะมีการให้สวมมงกุฏด้วย โดยทองคำทั้งหมดได้จากการร่วมกันบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธา แม้แต่พระสังฆราชาก็ร่วมบริจาคด้วยทองคำหนัก 15 บาท  หลังจากนั้นก็ไม่ได้มอบให้เพื่อนำไปสวมใส่หรืออย่างไร แต่ให้นำไปต่อบุญและถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานับพันปีแล้ว ในอดีตฝั่งภาคเหนือของไทยก็เคยมีแต่ก็ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาเท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและถือเป็นเกียรติของพระภิกษุฝั่งไทยเสียอีกที่ได้รับสมณะศักดิ์ดังกล่าวจากต่างประเทศ และหากว่าไม่ศรัทธาเขาก็คงจะไม่มอบให้แน่นอน

ครูบาอริยชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตามปกติสมณะศักดิ์ชั้นราชครูดังกล่าวจะมอบให้พระภิกษุที่มีพรรษาตั้งแต่ 40 พรรษาขึ้นไป หรือมีอายุอย่างน้อย 60 ปี แต่ครั้งนี้ทางคณะสงฆ์เมืองยองกลับให้เกียรติสูงสุดมอบให้กับครูบาที่มีอายุพรรษาได้ 18 พรรษา ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน เพราะตามปกติผู้จะได้รับสมณะศักดิ์ชั้นต่างๆ 7 ขั้น คือ พระภิกษุที่เพิ่งบวช ภิกษุที่บวชได้ 10 พรรษา เรียกว่า สาธุ ภิกษุที่บวชได้ 20 พรรษา เรียกว่าสาธิ ภิกษุที่บวชได้ 30 ปี เรียกว่าครูบา ภิกษุบวชได้ 40 พรรษา เรียกว่าชั้นราชครู ภิกษุที่บวชได้ 50 พรรษา ก็จะเป็นชั้นสังฆราชา และชั้นสูงสุดซึ่งหาได้ยากคือชั้น 70 พรรษาขึ้นไป ซึ่งมีอายุ 90 ปีขึ้นไป สำหรับตนนั้นกลับได้รับสมณะศักดิ์ที่เมืองยองให้เป็นขึ้นราชครูซึ่งต่ำกว่าเพียงชั้นสังฆราชาเพียงขั้นเดียว ซึ่งถือว่าได้รับเกียรติอย่างมาก  เมื่อได้รับเกียรติดังกล่าวก็จะนำสิ่งที่ได้มาต่อยอดทำบุญเพราะไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดอยู่แล้วแต่บรรดาลูกศิษย์และญาติโยมให้เก็บรักษาเอาไว้เป็นเกียรติประวัติจึงได้เก็บไว้ดังกล่าว



"ฝั่งเมียนมาในพื้นที่รัฐฉานนั้นเป็นชาวไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ที่เป็นพี่น้องกันและใช้ภาษาคล้ายกันสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ รวมทั้งนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน แล้วเขาก็มีประเพณีเช่นนี้มานับพันปี แม้แต่พระสงฆ์ฝั่งไทยก็เคยเข้ารับสมณะศักดิ์ มาแล้วหลายท่าน แต่จะได้รับถึงชั้นสูงสุดแค่ชั้นครูบาเท่านั้นยังไม่มีผู้ได้สูงถึงระดับราชครู ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าและสาเหตุที่ตนได้รับเลือกเนื่องจากเคยไปทำบุญที่เมืองท่าขี้เหล็กติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และได้รับชักชวนให้ไปเมืองยองซึ่งกำลังจะเปลี่ยนยอดฉัตรจากเงินให้เป็นทองคำพอดี ทำให้ได้ร่วมทำบุญและได้รับเชิญให้ไปรับสมณะศักดิ์ดังกล่าว ซึ่งในวันประกอบพิธีก็มีผู้ถวายปัจจัยเป็นเงินบาทกว่า 300,000 กว่าบาท และเงินจ๊าตของเมียนมากว่า 10 ล้านจ๊าตซึ่งก็ถวายทำบุญที่วัดพระธาตุเมืองยองทั้งหมดแล้ว" ครูบาอริยะชาติกล่าว