ข่าว'ดับ ติด ตก ยก' นึกถึง กกพ. - kachon.com

'ดับ ติด ตก ยก' นึกถึง กกพ.
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
ไฟฟ้าตกหรือดับบ่อยๆ ต้องท่องไว้เลยว่าเราในฐานะผู้ใช้ มีสิทธิได้รับเงินชดเชย จากค่าปรับที่ผู้ให้บริการ ให้บริการไฟฟ้าไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนดไว้ หากผู้ให้บริการไฟฟ้าให้บริการยังคงขาดประสิทธิภาพต่อเนื่องก็จะกระทบต่อใบอนุญาตอีก ซึ่งหัวใจสำคัญในเรื่องนี้นั่นคือ “ประชาชน” อย่างเราๆ ที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับเกิดผลกระทบในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อประกอบอาชีพ หรือแม้แต่เรื่องของ “นาทีชีวิต” หากมีผู้ป่วยติดเตียง จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟฟ้า การขาดไฟฟ้าไม่กี่นาทีย่อมส่งผลกระทบมาก

กกพ.ได้เห็นความสำคัญประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้แต่ความสงสัยว่าค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บแพงผิดปกติ ก็มีระเบียบคลุมไว้หมด เราสามารถร้องขอให้การไฟฟ้าทำการทดสอบมิเตอร์ได้ ถ้าผลการทดสอบออกมาชัดเจนว่ามีค่าความคลาดเคลื่อนแสดงเกิน ร้อยละ2.5การไฟฟ้าจะต้องเปลี่ยนมิเตอร์ให้และไม่คิดค่าใช้จ่ายในการทดสอบ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงโดยเพิ่มหรือลดหนี้สินส่วนที่คลาดเคลื่อนกับค่าไฟฟ้าในเดือนถัดไปให้ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก คู่มือของ กกพ.หรือในเว็บไซด์ www.erc.or.th ได้ทันที

แม้แต่เรื่องกระแสไฟฟ้าขัดข้องที่หลายครัวเรือนต้องประสบปัญหา มาตรฐานได้กำหนดไว้เลยว่า ผู้ประกอบการหากมีกระไฟฟ้าขัดข้องต้องจ่ายไฟคืนไม่เกินภายใน 3ชั่วโมง และต้องคืนให้ครบทุกพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ90จากพื้นที่ทั้งหมด อีกเรื่องที่หลายครัวเรือนประสบพบเจอ คือเรื่องเกี่ยวกับแรงดันและไฟกระพริบ ระเบียบเขียนไว้ชัดเจนว่า กฟน.และ กฟภ.ต้องตรวจสอบแก้ไขตามข้อร้องเรียนให้ได้ภายใน4เดือน มิเช่นนั้นต้องเสียค่าปรับและถูกพิจารณาถึงใบอนุญาตด้วย

การจะดับไฟล่วงหน้าก็เช่นเดียวกันต้องแจ้งประชาชนในพื้นที่ล่วงหน้า3วันทำการ โดยต้องแจ้งระยะเวลาดับไฟว่ากี่ชั่วโมง ที่สำคัญต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาที่แจ้งไว้ เกณฑ์ค่าปรับที่ต้องจ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าคือ400บาท/ครั้งหากไม่ปฏิบัติตาม 

กระทั่งหน้าที่การตอบข้อร้องเรียนของผู้ใช้ไฟก็ยังถูกกำหนดไว้ อย่างละเอียดในทุกช่องทางว่า ภายใน30วันทำการต้องตอบข้อร้องเรียนทางจดหมายให้ได้ทั้งหมด ช่องทางโทรศัพท์ต้องดำเนินการตอบข้อร้องเรียนให้ได้ร้อยละ 90 ภายในเวลาไม่เกิน 10นาที การกำหนดมาตรฐานการให้บริการนี้จึงเป็ฯเครื่องยืนยันให้ประชาชนอุ่นใจหายห่วง

เหนือสิ่งอื่นใด ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องรู้และเข้าใจในสิทธิของตนเอง ด้วยหากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกก็สามารถร้องเรียนไปที่ คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต หรือ คพข. เพื่อการคุ้มครองเราได้ หรือสายด่วน กฟภ. 1129 และ กฟน.1130 ให้บริการตลอด24ชั่วโมงรับทุกเรื่องร้องเรียนให้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว