หมอเผยสัญญาณ'ฆ่าตัวตาย' เสพข่าวซ้ำหวั่นเลียนแบบ
ข่าวประจำวัน
จากกรณีนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยชื่อดังใน จ.เชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กเป็นลางหวังฆ่าตัวตาย ทำให้เพื่อนๆ ในโซเชียลฯ แตกตื่น และได้ก่อเหตุกระโดดน้ำปิงจริง แต่ญาติแจ้งตำรวจช่วยไว้ได้ทัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยก่อเหตุมา 2 ครั้งแต่ช่วยเอาไว้ได้ ตามที่เสนอข่าวในแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 20 ก.พ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ข่าวที่ผ่านมาในช่วงนี้ จะเห็นว่าสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ โดยเฉพาะแบบรมควัน กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (Copycat suicide) ขึ้นมาได้ โดยการเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับรู้ข่าวที่บรรยายถึงวิธีการกระทำโดยละเอียด เห็นภาพหรือวิธีฆ่าตัวตายจากสื่อต่างๆ และได้ฟังบรรยายวิธีฆ่าตัวตายซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย
โดยจากข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ปี 2540-2560 พบว่ามีการฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีการรมควัน เพียงประมาณ 0.1% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และผู้ชายเสี่ยงกว่าผู้หญิง 1.38 เท่า ในการใช้วิธีการนี้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกัน โดยสื่อมวลชนซึ่งมีบทบาทเผยแพร่ข่าวสารควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการนำเสนอวิธีฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ภาพการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ใช้ทำร้ายตัวเอง และเลี่ยงการนำเสนอข่าวซ้ำๆ เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ สำหรับบุคคลทั่วไปให้หมั่นสังเกตคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หากพบมีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย หมดหวังไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย แสดงความเต็มใจช่วยเหลือ ยอมรับปัญหาของเขา ให้กำลังใจ ชักชวนออกไปทำกิจกรรมข้างนอก และพาไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน.
อ่านข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง...
สาวม.ดังฆ่าตัวตาย3รอบ โพสต์เฟซฯบอกเป็นลางช่วยทัน