หวั่นเด็กคิดว่าลูกโป่งลอยน้ำ เผลอจับแมงกะพรุนหัวขวด
ข่าวประจำวัน
ภายหลัง นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า ในปี 2558 ได้เริ่มพบแมงกะพรุนหัวขวดระบาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ โดยแมงกะพรุนชนิดนี้ จะมีลักษณะคล้ายลูกโป่งสีฟ้าและลอยน้ำ เด็ก ๆ เล่นน้ำจะคิดว่าเป็นลูกโป่ง พอไปจับเล่นก็จะถูกพิษของแมงกะพรุนทันที อย่างไรก็ตามพิษของแมงกะพรุนหัวขวด ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้เจ็บปวดได้ ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง นำป้ายมาปักเตือนและวิธีการรักษาหากโดนแมงกะพรุนพิษติดตั้งไว้บริเวณชายหาดแล้ว
"...สำหรับวิธีช่วยเหลือผู้ที่ถูกพิษแมงกะพรุน ให้ราดด้วยน้ำส้มสายชูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่ว ห้ามใช้น้ำจืดล้างโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะไปกระตุ้นกระเปาะพิษให้เพิ่มมากขึ้น ห้ามถู หรือขยี้ เพราะจะยิ่งทำให้พิษกระจาย เลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด จากนั้นให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการโดยเร็ว...." นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าวทิ้งท้าย.