ข่าวสอว.-มช.สร้างรง.ต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร - kachon.com

สอว.-มช.สร้างรง.ต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.น.ส.ทิพวัลย์ เวชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เผยว่า สอว. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) แห่งแรกของภาคเหนือ ในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs) และ สตาร์ทอัพ(Startup) ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจได้ทดลองใช้บริการวิจัย พัฒนา และผลิตสินค้านวัตกรรมอาหารได้อย่างครบวงจรตามกำลังความสามารถของผู้ประกอบการแต่ละราย

โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการสนับสนุนพื้นที่ก่อสร้างโรงงานฯ ในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวน 5.30 ไร่ บริเวณทิศตะวันตกของอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่) ผ่านการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายดำเนินการ พร้อมมีกำหนดการเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2562 

ผอ.สอว. กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของไทยซึ่งมีศักยภาพสูงในการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นครัวของโลก โดยในปี 2560 ประเทศไทยได้สร้างมูลค่าการส่งออกจากอุตสาหกรรมอาหารกว่า 1,000,000 ล้านบาท เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2559

ทั้งนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอาหารในเขตภาคเหนือจำนวนกว่า 120,000 ล้านบาท โดยโรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปางได้ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 23,000 ล้านบาท (คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด) สอว. กระทรวงวิทย์ฯ จึงมีแผนสร้างโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) เพื่อช่วยต่อยอดผลงานวิจัยโดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาปรับใช้ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เกิดขึ้นจริงผ่านการให้บริการอย่างครบวงจรในปริมาณที่เหมาะสมกับความสามารถของภาคเอกชน นับเป็นการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี(SMEs) และสตาร์ทอัพ(Startup) ในระดับภูมิภาคให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ครบพร้อมทันสมัย พร้อมตอบโจทย์ครอบคลุมธุรกิจอาหารในเขตพื้นที่ภาคเหนือ

ด้านผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานมหาวิทยาลัยแม่ข่ายดำเนินการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวถึงการให้บริการของโรงงานต้นแบบฯ ว่า โรงงานดังกล่าวได้ออกแบบให้เป็นโรงงาน 2 ชั้น ด้วยพื้นที่ใช้สอย 4,570 ตารางเมตร

โดยให้บริการสำหรับการวิจัย พัฒนา และสร้างผลิตภัณฑ์ใน 4 สายการผลิต ได้แก่ Acid Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรด (Acid food) เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มจากผลไม้ ซอสและแยม, Low Acid Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรดต่ำ (Low-acid food) ที่มีค่า pH มากกว่า 4.6 และมีค่า Water Activity มากกว่า 0.85 ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทนม อาหารและเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท, Dehydration Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทการทำแห้ง หรือการดึงน้ำออกด้วยการอบแห้ง (Dehydration) เช่น ผลิตภัณฑ์ชงละลาย ผักผลไม้อบแห้งด้วยเทคนิคต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ และ Advanced and Nutraceutical Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตสารสกัด สารให้กลิ่นรส และการแปรรูปอาหารโดยไม่ใช้ความร้อน เป็นต้น

โดยคาดว่าในระยะเวลา 5 ปีหลังจากเปิดให้บริการ โรงงานต้นแบบแห่งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเข้ารับบริการมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการได้จำนวนกว่า 700 ราย และเกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมากถึง 1,600 อัตรา พร้อมยกระดับผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ภาคเหนือด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูงให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้