ทช.เดินหน้าฟื้นฟูทะเล 23จว.พร้อมออกกฎคุมนักท่องเที่ยว
ข่าวประจำวัน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แผนการดำเนินการหลักของ ทช. จะดำเนินการภายใต้งบประมาณปี 2562 จำนวน 1,412ล้านบาท โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การฟื้นฟูทรัพยากรในด้านต่างๆ ได้แก่ แนวปะการัง ป่าชายเลน และการกัดเซาะชายฝั่ง
2. การออกมาตรการป้องกันและดูแลทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีทั้งการออกระเบียบและมาตรการควบคุมไปจนถึงการมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนจังหวัด เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการทำงานไร้รอยต่อ
ทั้งนี้ในด้านการประสานงานกับส่วนจังหวัดและท้องถิ่นในการมอบอำนาจนั้น ทช.ได้หมอบอำนาจให้จังหวัดและอำเภอในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลนอกเหนือจากกรุงเทพฯ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการจัดตั้งผู้รับผิดชอบในระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานระดับจังหวัด ต้องช่วยกันดูแล มีส่วนร่วม และปรึกษาในระดับกรรมการทุกมิติ ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ในส่วนการฟื้นฟูนั้น ทช. ตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะดำเนินการปลูกแนวปะการังใน 10 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ตราด ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสงขลา บนพื้นที่ 150 ไร่ เป็นปะการังจำนวน 240,000 กิ่ง รวมไปถึงการฟื้นฟูหญ้าทะเลในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร สงขลา และพังงา พื้นที่ 60 ไร่ เป็นหญ้าทะเลจำนวน 96,000 กอ
สำหรับวาระเร่งด่วนสำคัญของปี 2562 แบ่งได้เป็น 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ แต่จากนี้ไป ทช.จะเป็นผู้ดูแลภาพใหญ่ และประสานงานให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ทำ ทั้งส่วนท้องถิ่น และโยธาธิการจังหวัด รวมถึงต้องทำในรูปแบบที่ ทช.กำหนดเท่านั้น และต้องเร่งให้เสร็จเรียบร้อยใน 1-2 ปีนี้
2.การฟื้นฟูป่าชายเลน ที่มีการหานวัตกรรมใหม่ๆ มาเพื่อแก้ไขปัญหาทางธรรมชาติ เช่น โครงการไม้โกงกางเทียมหรือนวัตกรรมซีออส (C-Aoss) ซึ่งมีต้นทุนเท่ากับไม้ไผ่ เป็นต้น และ 3. โครงการบูมหรือแขนดักขยะเพื่อให้ขยะที่ไหลมาตามแม่น้ำไม่สามารถเล็ดลอดออกไปสู่ทะเลได้มาก ซึ่งได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนจาก Boyan Slat นักศึกษาชาวเนเธอร์แลนด์ผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว และได้รับการตอบรับการสนับสนุนในการช่วยเหลือสำหรับจัดทำแล้ว
นอกจากโครงการเชิงฟื้นฟูแล้ว ทช.ยังเร่งผลักดันในส่วนของกฎหมายมาตรการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งอยู่นอกเหนืออาณาเขตการดูแลของกรมอุทยานฯ ล่าสุดได้เสนอร่างมาตรการคุ้มครองเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ไปเมื่อปลายปี 2561 จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศมาตรการคุ้มครอง 3 เกาะ ได้แก่ เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่าง ทช.กับกองทัพเรือที่เป็นฝ่ายความมั่นคง ว่าด้วยการห้ามกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากตรวจพบจะถูกจับกุมและปรับฝนอัตราไม่เกิน 100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี
ปัจจุบัน ทช. กำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอมาตรการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆกับการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ได้แก่ การควบคุมเรือนำเที่ยว และไกด์นำเที่ยว ในด้านรายละเอียดทางใบอนุญาต และการควบคุมประกบนักท่องเที่ยวระหว่างกิจกรรมดำน้ำชมปะการังของไกด์นำเที่ยวอย่างเป็นระบบมาตรการเดียวกับสากลที่ทำกันทั่วโลก เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติน้อยที่สุด ซึ่งได้ผ่านคณะกรรมการชาติแล้ว คาดว่าจะมีผลภายใน 1-2 เดือน รวมไปถึงแนวทางการจำกัดนักท่องเที่ยวในการขึ้นเกาะที่อยู่นอกเขตอุทยานฯที่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในการวางระเบียบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนจังหวัดในการควบคุม