ข่าวเรือเหล็กทั้งลำยังลอยได้ ไขสงสัยปมพระพุทธรูปลอยน้ำ? - kachon.com

เรือเหล็กทั้งลำยังลอยได้ ไขสงสัยปมพระพุทธรูปลอยน้ำ?
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ พร้อมระบุว่า "ข่าวพระพุทธรูปลอยน้ำได้ ทำไมมันถึงมหัศจรรย์มากเหรอ ขนาดเรือเป็นเหล็กทั้งลำยังลอยน้ำได้เลย"

โดยอาจารย์เจษฎา อธิบายว่า การที่วัตถุใดจะลอยน้ำหรือจมน้ำนั้น ขึ้นอยู่กับ “แรงลอยตัว” (buoyancy force) โดยแรงลอยตัวในน้ำคือแรงพยุงของน้ำที่กระทำต่อวัตถุที่อยู่ในน้ำ จึงทำให้วัตถุลอยอยู่ในน้ำได้ และการที่วัตถุบางชนิดลอยอยู่ในน้ำได้ เพราะแรงลอยตัวที่กระทำต่อวัตถุนั้นมีค่ามากเพียงพอที่จะต้านน้ำหนักของวัตถุ ซึ่งเกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลก ทั้งนี้อาร์คิมีดิส (Archimedes) นักปราชญ์ชาวกรีก เป็นผู้ค้นพบแรงลอยตัว และได้ให้หลักการเกี่ยวกับการจมและการลอยของวัตถุในของเหลวว่า “แรงลอยตัวที่กระทำต่อวัตถุ มีค่าเท่ากับน้ำหนักของของเหลวที่ถูกแทนที่ด้วยปริมาตรของวัตถุส่วนที่จมในของเหลวนั้น” จากหลักการนี้จะพบว่า แรงลอยตัวนั้นเท่ากับความหนาแน่นของของเหลว (ซึ่งก็คือ มวลต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร) คูณปริมาตรวัตถุส่วนที่จมในของเหลว คูณค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก (FB = pVg)

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เจษฎา สรุปว่าด้วยเหตุนี้ “ความหนาแน่นของวัตถุ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วัตถุนั้นจมหรือลอยในน้ำ ถ้าวัตถุมีความหนาแน่นน้อยกว่าความหนาแน่นของน้ำ (1 พันกิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร) วัตถุจะลอยน้ำ แต่ถ้าวัตถุมีความหนาแน่นเท่ากับน้ำ วัตถุจะลอยปริ่มน้ำ และถ้าวัตถุมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ วัตถุจะจมน้ำ ดังนั้นแม้ว่าพระพุทธรูปตามในข่าว (หรือตู้ใส่ศพ) จะมีน้ำหนักมาก แต่ถ้ามีรูปทรงที่ทำให้มี “ปริมาตร” มากด้วย ก็ทำให้ความหนาแน่นน้อยลง และก็จะสามารถลอยน้ำได้ เหมือนเรือที่ทำด้วยเหล็ก แต่ถูกต่อมาให้มีความกว้างยาวลึกมากขึ้น ความหนาแน่นรวมของทั้งลำเรือก็จะน้อยลง เรือจึงลอยน้ำได้.

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม @Jessada Denduangboripant