ทำเนียบวัตถุมงคล'พ่อคูณ' ถวิลหารุ่นดังปี12-17-19สะสม
ข่าวประจำวัน
ห้วงนี้เรื่องราวของ "หลวงพ่อคูณ" ก่อนงานพิธีจะเกิดขึ้นนั้น ได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันอย่างกระหึ่มอีกครั้ง! ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตชีวประวัติ คุณงามความดีทางด้านพระพุทธศาสนา การสร้างสาธารณะประโยชน์ให้กับวัดและชาวบ้าน ที่สำคัญ เรื่องของการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่โจษขานกันอย่างแพร่หลายว่า วัตถุมงคลที่ "หลวงพ่อคูณ" สร้างนั้น ได้รับการยอมรับว่า "ดีพุทธศิลป์-ขลังพุทธคุณ" จนเป็นที่นิยมเช่าหาเก็บสะสมไว้ นั่นยิ่งทำให้สนนราคาพุ่งสูง ถ้ายิ่งเก่ายิ่งแพง แถมจำนวนการจัดสร้างน้อยด้วยแล้ว แพงแบบหูดับตับไหม้กันเลยทีเดียว ถ้าอย่างงั้น "เดลินิวส์ออนไลน์" จะพาไปดูกันว่า ทำเนียบวัตถุมงคลหลวงพ่อคูณที่จัดสร้างมีรุ่นไหนได้รับความนิยมกันบ้าง
เริ่มกันที่เหรียญรุ่นแรก ออกที่ วัดแจ้งนอก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2512 ที่ระลึกงานฉลองพระประธาน วัดแจ้งนอก สร้าง 10,000 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดงรมดำ เพียงเนื้อเดียว ลักษณะเหรียญ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อคูณครึ่งองค์ มีตัวอักษรล้อมรอบหลวงพ่อ โดยด้านบนเขียนว่า "พระอาจารย์คูณ ปริสุทโธ" ด้านล่างมีจุดคั่น 2 จุด เขียนว่า "วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา" ด้านหลังเหรียญมีอักขระยันต์อยู่ตรงกลาง ล้อมด้วยตัวอักษรเขียนว่า "ที่ระลึกฉลองพระประธาน วัดแจ้งนอก ในเมืองนครราชสีมา ๙ ส.ค.๑๒" ปัจจุบันวงการพระเครื่องได้แยกบล็อกเหรียญปี 2512 นี้ ออกเป็น 2 บล็อกย่อย คือ บล็อกจมูกโด่ง และบล็อกจมูกบี้ โดยบล็อกจมูกโด่งจะได้รับความนิยมมากกว่า หากมีสภาพความสวยคมชัดพอๆ กัน เท่าที่พบเห็นมีทั้งแบบมีรอยจาร และไม่มีรอยจาร
โดยขณะนั้น ได้มีผู้คนแห่มาร่วมบุญบูชาแน่น ทำให้เหรียญที่สร้างมีจำนวนไม่มากพอต่อความต้องการของประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาในตัว "หลวงพ่อคูณ" จนมีบางคนที่ไม่ได้เหรียญรุ่นนี้ กล่าวหาว่า หลวงพ่อแจกให้เฉพาะคนรวย ไม่ให้คนจน ท่านจึงแก้ปัญหาโดยโยนเหรียญที่เหลือทั้งหมดลงสระน้ำในวัด ใครอยากได้เหรียญให้ลงไปงมหากันเอาเอง เพื่อความเสมอภาค มีบางคนเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า "รุ่นโยนสระ" โดยส่วนใหญ่จะพบเหรียญมีรอยถลอกปอกผิวเหรียญ
เหรียญที่ได้รับความนิยมถัดมา ปี 2517 หรือเรียกกันว่า "เหรียญรุ่น 2" จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสสร้างกุฏิวัดสระแก้ว เป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อคูณครึ่งองค์ ด้านบนเขียนว่า "หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" ด้านล่างเขียนว่า "วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา" ตรงสังฆาฏิด้านหน้าตอกโค้ด "ปรธ" ภายในวงกลม เป็นตัวย่อมาจากคำว่า "ปริสุทโธ" อันเป็นฉายาของท่าน ด้านหลังเหรียญมีอักขระยันต์อยู่ตรงกลาง มีตัวอักษรจากซ้ายไปขวาเขียนว่า "ที่ระลึกสร้างกุฏิสงฆ์วัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา" ด้านล่างมีจุดคั่น 2 จุด เขียนว่า "รุ่นพิเศษ ๔ ต.ค.๒๕๑๗"
ว่ากันว่า เหรียญรุ่นนี้แกะบล็อกได้เหมือนท่านที่สุด และเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์เล่าขานกันมากมาย มี 2 เนื้อ คือ นวโลหะ จำนวนสร้าง 2,500 เหรียญ เนื้อทองแดง จำนวนสร้าง 99,999 เหรียญ มีทั้งแบบมีรอยจารและไม่มีรอยจาร โดยหลวงพ่อจะจารตัว "ยา นะ" เหรียญที่มีจารและตอกโค้ดได้เต็ม
อีกเหรียญที่โดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างมาก คือ เหรียญปี 2519 ลักษณะเหรียญเป็นรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูป หลวงพ่อคูณ นั่งเต็มองค์ ด้านล่างเขียนว่า "หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" ด้านหน้าตอกโค้ดตามแต่ละเนื้อ ด้านหลังเหรียญ มีอักขระยันต์อยู่ตรงกลาง ด้านบนเขียนว่า "วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา" ด้านล่างเขียนว่า "รุ่นสร้างบารมี ๒๕๑๙" จำนวนสร้าง 4 เนื้อ คือ ทองคำ 19 เหรียญ เงิน 199 เหรียญ นวโลหะ 999 เหรียญ และทองแดงรมดำ 2,519 เหรียญ (ตามปีที่จัดสร้าง) รวมทั้งหมดเพียง 3,000 กว่าเหรียญเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
โค้ดที่ใช้ตอก เหรียญรุ่น "สร้างบารมี" ปี 2519 มี 2 ตัว โค้ดของแท้เส้นจะเล็กและคม คือ 1.โค้ด "คปร" ย่อมาจาก "คูณปริสุทโธ" ใช้ตอกในเหรียญเนื้อเงิน และเหรียญเนื้อทองแดง 2.โค้ด "คป" ย่อมาจาก "คูณปริสุทโธ" ใช้ตอกในเหรียญเนื้อนวโลหะ สำหรับเหรียญเนื้อทองคำ เท่าที่พบเห็นไม่มีการตอกโค้ดแต่อย่างใด ส่วนรอยจารในเหรียญรุ่นนี้ เท่าที่พบเห็นมี 2 ลายมือ โดยหลวงพ่อคูณนิยมจารที่ด้านหน้าเหรียญ แบบจารรอบครอบแก้วว่า "มะ อะ อุ ยา นะ ยา อุ อะ มะ" มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ท่านจะจารอักขระให้มากกว่านี้ ส่วนลายมือของอาจารย์ท่านอื่น จะจารแบบจารตรง หรือจารข้าง คือ ด้านขวาของเหรียญ จะจารตัว "มะอะอุ" ด้านซ้ายของเหรียญจะจารตัว "ยา นะ"
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรุ่นที่ได้รับความนิยมมากมายที่จัดสร้างขึ้นในวาระต่างๆ จวบจน "หลวงพ่อคูณ" ละสังขาร อย่างไรก็ดี การจัดสร้างวัตถุมงคลของ "หลวงพ่อคูณ" ล้วนแต่สร้างขึ้นด้วยมีวัตถุประสงค์ที่ดีทั้งนั้น ใครที่แขวนเหรียญหลวงพ่อคูณติดตัวไว้นั้นก็เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ มีสติระลึกรู้ ไม่ประมาท ส่วนเรื่องความศักดิ์สิทธิ์-อิทธิปาฏิหาริย์เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล เฉกเช่นเดียวกับเรื่องความชื่นชอบสะสมเหรียญหลวงพ่อคูณ.
ขอบคุณภาพประกอบจาก พัศพงศ์ โคตนะ(กลุ่มหลวงพ่อคูณ17 สายตรง) เดชาธร กิจทรัพย์เกษม พระเครืองหลวงพ่อคูณวัดบ้านไร่(เทพเจ้าด่านขุนทด)