ข่าวไขกฎหมายหมาเห่ายามวิกาล ทำไมทนายดังบอกว่าผิด? - kachon.com

ไขกฎหมายหมาเห่ายามวิกาล ทำไมทนายดังบอกว่าผิด?
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

กรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ หลังทนายชื่อดังออกมาโพสต์ ระบุว่า หากเจ้าของปล่อยให้หมาเห่าตอนดึกๆ หรือเห่าจนน่ารำคาญ เป็นปัญหาพอสมควร หากใครเลี้ยงหมาควรรับผิดชอบให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เห่าจนชาวบ้านเขารำคาญ ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 25 ม.ค. ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวให้ฟังว่า กรณีสุนัขเห่าหอนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งคือพฤติการณ์ตามธรรมชาติของสุนัขทุกตัว แต่กรณีที่เลี้ยงสุนัขจำนวนมากในพื้นที่จำกัด ซึ่งอาจส่งเสียงกระทบต่อผู้พักอาศัยบริเวณข้างเคียง โดยเฉพาะยามวิกาลที่กำลังพักผ่อน เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญขึ้นได้ ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560) มาตรา 25 ได้กำหนด ในกรณีที่มีเหตุอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบเหตุ ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (2) การเลี้ยงสัตว์ในที่หรือวิธีใด หรือจำนวนเกินสมควรจนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ



โดยมาตรา 28 ได้ระบุไว้ว่า กรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในสถานที่เอกชน ให้พนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของสถานที่นั้นระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควร และถ้าเห็นว่าสมควรจะให้ระงับเหตุรำคาญที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ให้ระบุไว้ในคำสั่ง ขณะที่มาตรา 74 ระบุไว้ว่า ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามพนักงานท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือขัดขวาง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า ดังนั้นถ้ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือเสียหายจากเหตุเดือดร้อนรำคาญ มีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสั่งให้เจ้าของสุนัข ดำเนินการระงับความเดือดร้อนรำคาญ แต่ถ้าเจ้าของสุนัขไม่ดำเนินการหรือขัดขวาง อาจจะมีโทษตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ตามโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข จึงไม่ใช่โทษที่สุนัขเห่าหอนแล้วไปปรับหรือจำคุกเจ้าของสุนัข แต่เป็นโทษสำหรับเจ้าของสุนัขที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ ฉะนั้นการเลี้ยงสุนัขแม้เป็น “สิทธิ” ที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ แต่เจ้าของก็ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลี้ยงดู ที่จะต้องไม่กระทบหรือละเมิดสิทธิ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่นเช่นกัน.