ข่าว'กรีนพีซ'แนะรัฐบาลไทยยกร่างมาตรฐานpm2.5ใหม่ - kachon.com

'กรีนพีซ'แนะรัฐบาลไทยยกร่างมาตรฐานpm2.5ใหม่
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ใหม่อย่างเร่งด่วน โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ปี 2561 พบว่า พื้นที่เมือง 10 อันดับที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM 2.5 คือ 1.ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2. ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 3.ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง 4.ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 5.ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 6.ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 7.ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ์ จ.สระบุรี 8.ริมถนนดินแดง กรุงเทพ 9.ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ 10.ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี ทั้ง 10 อันดับนี้พบว่า มีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมครอนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่าง 19-68 วัน ซึ่งเกินจากที่องค์กรอนามัยโลก แนะนำว่า ไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัม มากกว่า 3 วันในช่วงเวลา 1 ปี ซึ่งส่งผลกระทบวิกฤตด้านสาธารณสุขมีแน้วโน้มขยายวงกว้างขึ้น



โดยในอดีตประเทศไทยมีเครื่องวัดมลพิษทางอากาศของกรมควบคุมมลพิษเพียง 14 จังหวัด ใน 24 สถานี แต่ในกทม.มีเพียง 4-5 เครื่อง ไม่เกิน 6 จุด ต่อมาเมื่อ เดือน ธ.ค. 2561 สถานีวัด PM2.5 เพิ่มเป็น 53 จุดใน 19 จังหวัด เป็นการขับเคลื่อนของภาครัฐ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนสามารถเข้ามาติดตามสถานการณ์ได้มากขึ้น

ผศ.อริศรา เจริญปัญญาเนตร อาจารย์ประจำศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ของไทยเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เนื่องจากผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ให้เห็นว่าการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา มีส่วนเพิ่มความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นและกระจายแผ่มาปกคลุมประเทศไทย.