'ตูน'ปลื้มมอบหุ่น'ผ่าตัดสมอง' ตัวแรกในเอเชียแปซิฟิค
ข่าวประจำวัน
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. "ตูน บอดี้แสลม" ได้ร่วมส่งมอบ "SYNAPTIVE" หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองตัวแรกในเอเชียแปซิฟิค อย่างเป็นทางการให้กับ รพ.พระมงกุฎเกล้า ภายใต้ชื่องาน "ก้าวต่อชีวิต" โดย ตูน เผยว่า วันนี้มาเป็นตัวแทนให้กับทุกคนที่ร่วมกันในก้าวคนละก้าว ที่โอนเงินบริจาคกันเข้ามา วันนี้ก็ยินดีกับ รพ.พระมงกุฎเกล้า ด้วย ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยและดีที่สุดมารักษาคนปกติ รักษาคนไทยสามัญ ที่ไม่ได้มีเงินมาก อันนี้สำคัญที่สุด สามารถเข้ามารักษาด้วยเครื่องมือหลายสิบล้านได้ ผมดีใจตรงนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ไม่ต่างจากคนที่มีสตางค์ ผมยินดีด้วยกับคนไทยทุกคน
ด้าน พล.ต.นิมิตร์ สะโมทาน ผอ.รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ในส่วนของ รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้รับเงินมา 212 ล้านบาท ก็ผ่านกระบวนการคิดของคณะกรรมการในการคิดเพื่อนำไปสร้างประโยชน์สูงสุด จึงนำไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องการจำนวนมาก โดยมุ่งเน้นไปยังเครื่องมือที่ต้องการเร่งด่วน และเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งถ้าเป็นการจัดหาตามแบบปกติก็ต้องใช้เวลานานถึง 1-2 ปี ทำให้เทคโนโลยีกับเครื่องมือที่ได้จะขาดความทันสมัย ซึ่งโครงการ "ก้าวคนละก้าว" สามารถช่วยในด้านความรวดเร็วตรงส่วนนี้ โดยตอนนี้เพิ่งจะใช้เงินซื้อเครื่องมือไปเพียงบางส่วน ในอนาคตจะนำเงินที่ได้ไปสร้าง "ศูนย์กู้ชีพก้าวคนละก้าว"
"ตอนนี้เราได้ใช้เงินในส่วนของระยะแรก เป็นรถพยาบาลทั้ง 4 ภูมิภาค ระยะที่ 2 ได้จัดหาเทคโนโลยีเครื่องมือ 173 เครื่อง ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมทาง รพ.พระมงกุฎเกล้าจึงจัดซื้อช้า ต้องบอกก่อนว่า ด้วยความที่เงินทุกบาทจากก้าวคนละก้าว เป็นเงินที่มาจากคนไทยทั้งประเทศ ทางเราต้องคิดให้มาก เพื่อทำให้เงินเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเรื่องความจำเป็นทางด้านเทคโนโลยีนั้น ด้วยความที่ผู้ป่วยอาการหนักจะถูกส่งต่อมาที่นี่ และยังเป็นที่อบรมแพทย์ ทำให้ทางโรงพยาบาล จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูงสุด โดยในวันนี้ก็มีนายธวัชชัย เนยโอชา 52 ปี เนื้องอกในสมอง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของก็ได้ผ่าตัดโดยใช้เครื่อง SYNAPTIVE สามารถลดทอนเวลาการผ่าตัด ทำให้คนไข้สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว และใช้กระบวนการผ่าตัด รักษาตัวเพียง 7 วันก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้" ผอ.รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับ "SYNAPTIVE" เป็นระบบที่ช่วยสร้างแผนที่ระบบประสาทของสมองทั้งหมดภายใน 20 นาที มีจอความละเอียดสูง สามารถแยกส่วนประสาท เนื้องอก รวมไปถึงเส้นเลือดได้ ทั้งยังช่วยสร้างแผนการผ่าตัดและนำทางอย่างแม่นยำ เสมือนรถยนต์ที่มีระบบจีพีอาร์เอส โดยเทคโนโลยีที่ใช้ยังเป็นซอร์ฟแวร์เดียวกับแขนหุ่นยนต์ที่ใช้ในสถานีอวกาศ ISS ของ NASA และกล้องผ่าตัดความละเอียดสูงที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดด้วยข้อมูลที่เที่ยงตรง และหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสมองส่วนสำคัญของผู้ป่วย ลดการบอบช้ำ สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนไข้หลังผ่าตัดกลับมาเหมือนปกติที่สุดอีกด้วย.