ตำนาน'หลวงพ่อคูณ'บำเพ็ญเพียรจากลาวสู่เขมรถึงไทย
ข่าวประจำวัน
พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สมญาเทพเจ้าแห่งดินแดนที่ราบสูงนั้น ภายหลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร ก็มุ่งมั่นเรียนคันถธุระ และวิปัสสนาธุระเคร่งครัดมาก ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อคง วัดถนนหักใหญ่ และหลวงพ่อแดง วัดหนองโพธิ์ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ผ่านบำเพ็ญเพียรจาริกแสวงบุญ ผ่านฝั่งลาวและกัมพูชา (เขมร) มาหลายปี เผชิญสิ่งลี้ลับและอาถรรพณ์ต่าง ๆ มากมาย หากพลังจิตไม่แกร่งกล้าแล้วไซ้โอกาสจะ “มรณภาพ” หรือ “วิปลาส” มีสูงมาก
หลวงพ่อคูณ ท่านตั้งใจศึกษาพระธรรม ตามรอยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เคยตรัสเอาไว้ว่า “เทว เม ภิกขเว วิชชา ภาคิยา” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชานั้นมี 2 อย่าง ได้แก่ 1.สมถะ ความสงบระงับแห่งจิตที่ปราศจากกิเลสอาสาวะทั้งปวง 2.วิปัสสนา ความเห็นแจ้งซึ่งธรรมเบื้องสูงอันสุขุมลุ่มลึก ในทางพระพุทธศาสนา และจงเดินตามหนทางนั้นเถิด
หลวงพ่อคง และหลวงพ่อแดง ผู้เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อคูณ จัดเป็นเถราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางธรรม และไสยเวทย์ ได้พร่ำอบรมสั่งสอนวิชาความรู้ให้เต็มที่ไม่ปิดบังอำพราง โดยให้หลวงพ่อคูณศึกษาพระธรรม ควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หรือกรรมฐาน เน้นมี “สติ” ระลึกรู้ รับรู้ได้ สามารถพิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบต่อจิต เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันในอารมณ์นั้น เช่น เมื่อเกิดอารมณ์ “หลง” ท่านให้พิจารณาว่า “อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นความทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นนาม จึงมิใช่ของเรา และของเขา” หรือถ้าเกิดความรู้สึก “พึงพอใจ” ก็ให้พิจารณารู้เท่าทันว่า เป็นเพียงสิ่งไม่เที่ยงและไม่จีรัง
หลวงพ่อคูณ ยึดแนวทางครูบาอาจารย์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยยึดแนวทางพิจารณา 5 ประการ คือ 1.พิจารณาว่า ความเกิดเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความเกิดนี้ได้ 2.พิจารณาว่า ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความแก่นี้ได้ 3.พิจารณาว่า ความเจ็บเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความเจ็บนี้ได้ 4.พิจารณาว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา หาล่วงความตายนี้ได้ 5.พิจารณาว่า เรามีกรรมเป็นเรื่องธรรมดา เรามีกรรมเป็นของตนเอง เรากระทำความดี จักได้ดี เรากระทำความชั่ว จักได้ชั่ว”
ส่วนแนวทางวิปัสสนากรรมฐานนั้น หลวงพ่อคูณ ยึดใช้หมวดอนุสติ ใช้วิธีกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์ เรียกว่า “มรณะสติ” มาฝึกจิตให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และ ความหลง เป็นต้น
หลวงพ่อ กำหนดลมหายใจเข้าออก ด้วยการภาวนาทำจิตให้เกิดสัมมาสมาธิ เรียกว่า “อานาปานสติ” จนเชี่ยวชาญและชำนาญดีแล้ว หลวงพ่อคูณ จึงออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป ผ่านป่าอาถรรพณ์ในประเทศลาว และออกธุดงค์มุ่งหน้าเข้าเขตป่าลึกของประเทศกัมพูชา (เขมร) ดินแดนอาถรรพณ์ ตำนานแหล่งไสยเวทย์อันลือลั่นมายาวนาน
ทั้งหมดนี้คือ การย้อนเรื่องราวเล่าขานถึงความวิริยะ หมั่นเพียร แสวงหาธรรมะ และฝึกพลังจิตให้แกร่งกล้าของ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ สมญาเทพเจ้าแห่งดินแดนที่ราบสูง ในฐานะเพชรเม็ดงามอีกรูปหนึ่ง ในบวรพุทธศาสนา สมควรแก่การเคารพสักการะ รำลึกธรรมะและคุณความดี ของท่านตราบนิจนิรันดร์.