ข่าวPEA รับมือฝุ่นละออง PM 2.5 ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า - kachon.com

PEA รับมือฝุ่นละออง PM 2.5 ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวถึงโครงการของ PEA ที่ช่วยลดปัญหา PM 2.5 ว่า ตามที่ประเทศไทยเกิดปัญหาจากฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 กระทบต่อสุขภาพของประชาชนและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว สาเหตุหลักเกิดจากการก่อสร้าง การเผาและควันจากรถยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่ง PEA ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการเกี่ยวกับ EV charging station (สถานีอัดประจุไฟฟ้า) โดยสร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV charging station network ในเขตพื้นที่ภาคกลาง เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โครงการรถสามล้อไฟฟ้า (EV TUK TUK) และระบบ EV Charging Station จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการรถยนต์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า





ที่ผ่านมา PEA สร้างโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV charging station network ในพื้นที่ภาคกลาง เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใน 5 เส้นทางหลัก ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าหลากหลายมาตรฐานหรือ Multi-Standard ที่สามารถอัดประจุไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 11 สถานี ในเส้นทางต่างๆ ดังนี้
• สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 1 สถานี
• สายเหนือ กรุงเทพฯ - พระนครศรีอยุธยา จำนวน 2 สถานี
• สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา จำนวน 2 สถานี
• สายตะวันออก กรุงเทพฯ - พัทยา จำนวน 2 สถานี
• สายใต้ กรุงเทพฯ-หัวหิน จำนวน 3 สถานี
• สายตะวันตก กรุงเทพฯ-นครปฐม จำนวน 1 สถานี



สำหรับโครงการรถสามล้อไฟฟ้า และระบบ EV Charging Station ที่จังหวัดเชียงใหม่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของ PEA ดำเนินการจัดหาและจำหน่ายรถสามล้อไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความจำเป็นในการใช้งานจริงของผู้ขับขี่รถรับจ้าง และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าหัวจ่ายแบบธรรมดา (Normal Charge) ในจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ 1 Thai silk jolie femme มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น สถานีขนส่งอาเขต 2 Night safari ปางช้างแม่สา Tiger kingdom อำเภอแม่ริม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงข่ายการใช้รถยนต์สามล้อไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถจองคิวการชาร์จล่วงหน้าผ่าน Application และชำระค่าโดยสารเพียงสแกน QR Code ส่งเสริมการใช้รถสามล้อไฟฟ้าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ลดปัญหามลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



ภายในปี 2563 กำหนดเป้าหมายมีรถสามล้อไฟฟ้า หรือ EV TUK TUK ของโครงการจำนวน 450 คันในจังหวัดเชียงใหม่ และขับเคลื่อนให้รถตุ๊กๆ รับจ้างจำนวน 18,000 คันทั่วประเทศที่เป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิง ปรับมาเป็นรถสามล้อไฟฟ้า นอกจากนี้ PEA ยังสนับสนุนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในองค์กร โดยจะนำรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวน 210 คัน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าประมาณ 500 คัน ส่งให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาและ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยทั่วประเทศนำไปใช้งาน