เปิดชื่อพืชปลูกในเมืองจับฝุ่น ลงทุนน้อยได้ผลระยะยาว
ข่าวประจำวัน
สืบเนื่องจากปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ได้ชี้แนะว่าการปลูกต้นไม้เพิ่มบางชนิด เช่น ต้นตะขบ ใบที่เป็นขนสามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ดี แต่ยังไม่หวังว่าทำวันนี้แล้วจะได้ผลพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มทำวันนี้ปัญหาในอนาคตจะเรื้อรัง อย่างไรก็ตามมาตรการระยาวเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศให้เหมาะสมโดยใช้พืชพรรณที่มีศักยภาพ ในการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ถือเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลระยะยาว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าคลายสงสัยว่า พืชสามารถดักจับฝุ่นได้อย่างไร? โดยฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน จะถูกพัดพาหรือตกลงในใบพืชที่มีความชื้น ผิวหยาบหรือมีขน หรือผิวใบที่มีประจุไฟฟ้า ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การตกกระทบ” จากนั้นฝุ่นละอองบางส่วนสามารถย้อนกลับไปสู่สภาวะแขวนลอยในอากาศได้เมื่อถูกลมพัด บางส่วนจะถูกดักจับไว้ที่ผิว ใบเมื่อฝนตกก็จะถูกชะล้างลงสู่พื้นดิน แต่หากผิวใบมีความเหนียวมาก ฝุ่นละอองจะหลุดออกได้ยาก ต้องรอให้ใบร่วง ฝุ่นจึงจะกลับลงมาสู่พื้นดิน
ส่วนพืชชนิดใดบ้างที่สามารถดักจับฝุ่นได้? พืชทุกชนิดสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ โดยพืชตระกูลสนสามารถดักจับฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากโครงสร้างของใบมีความละเอียดและซับซ้อน ทั้งนี้การคัดเลือกพืชเพื่อดักจับฝุ่นมีเกณฑ์ดังนี้ 1.ไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มที่ใบมีผิวหยาบหรือมีขน จะมีประสิทธิภาพมากกว่าผิวเรียบมัน 2.ต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบจะมีประสิทธิภาพดีกว่าไม้ผลัดใบ 3.พืชที่มีผิวใบโดยรวมมากกว่าจะสามารถดักจับฝุ่นละอองได้มากกว่าพืชที่มีผิวใบน้อย ดังนั้นต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็ก จึงมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละออง สูงกว่าต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่
การใช้พรรณพืชดักจับฝุ่นในพื้นที่เมือง จากงานวิจัยพบว่า ไม้เลื้อย เช่น ใบระบาด มีศักยภาพในการทนทานต่อมลพิษทางอากาศ สามารถนํามาต่อยอดเพื่อใช้ในการดักจับฝุ่นในพื้นที่เมืองที่มีตึกสูงและถนนแคบได้ โดยทําเป็นสวนประดิษฐ์แนวตั้ง บนตึกและบริเวณรอบๆ ถนนในพื้นที่เมือง โดยใช้ไม้กระถางที่มีความสูง 1-2 เมตรวางเรียงกันเหมือนรั้ว หรือไม้เลื้อยโดยทําพื้นที่ให้เลื้อยเป็นม่านต้นไม้ เพื่อดักจับมลพิษทางอากาศ โดยมีประสิทธิภาพในการดักจับมลพิษได้เป็นอย่างดี เช่น เครือออน พวงประดิษฐ์ เล็บมือนาง ใบระบาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถทําเป็นแผงกรองฝุ่นไม้เลื้อย ใช้ตามบริเวณที่มีลมพัดฝุ่นเข้าอาคาร หน้าต่าง หรือรั้วบ้านตั้งติดถนน เพื่อช่วยกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็ก เพิ่มความสวยงาม ลดความร้อนให้กับอาคาร และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองรวมไปถึงภูมิทัศน์ ขณะที่การปลูกไม้พุ่มที่มีใบเล็กละเอียดช่วยเก็บฝุ่นได้มากถึงร้อยละ 60-80
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างไม้ต้นที่มีศักยภาพในการดูดจับฝุ่นละอองในเขตเมือง ได้แก่ 1.ไม้เลื้อน เล็บมือนาง กะทกรก สร้อยอินทนิล 2.ไม้ล้มลุก ไผ่ลวก 3.ไม้พุ่ม ทองอุไร คริสตินา หางนกยูงไทย กรรณิการ์ และ 4.ไม้ต้น ข่อย โพทะเล ตะลิงปลิง ขี้เหล็กเลือด ปอกระสา ตะขบฝรั่ง โมกหลวง
ติดตามอ่านข่าวอื่นที่เกี่ยว
นายกแพทยสภาแนะปลูกไม้ 'ตะขบ'ใบมีขนดักจับPM2.5