ข่าวตำนานอมตะกล่าวขานไม่รู้จบ! 'พ่อคูณ'เทพเจ้าด่านขุนทด - kachon.com

ตำนานอมตะกล่าวขานไม่รู้จบ! 'พ่อคูณ'เทพเจ้าด่านขุนทด
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s
กล่าวถึงพระภิกษุที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกับ "ท่านั่งยอง" หรือการพูดจา "กู-มึง" แบบตรงไปตรงมาด้วยภาษาพ่อขุนรามคำแหง ทุกคนย่อมนึกถึง พระเทพวิทยาคม หรือ "หลวงพ่อคูณ" แห่งวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พระเกจิผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคอีสานที่ได้รับสมญานาม "เทพเจ้าด่านขุนทด" โดยเมื่อปี 2558 ถือเป็นข่าวเศร้าวงการสงฆ์และศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ เมื่อ "หลวงพ่อคูณ" มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เวลา 11.45 น. ของวันที่ 16 พ.ค. สิริรวมอายุ 92 ปี พรรษา 70 สรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ ได้เคลื่อนมาประกอบพิธีและนำมาเก็บไว้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ตามพินัยกรรมที่หลวงพ่อคูณได้ระบุไว้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2543 ซึ่งในวันที่ 29 ม.ค.นี้ จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อคูณ ที่เมรุลอยชั่วคราวของ วัดหนองแวงพระอารามหลวง บริเวณพุทธมณฑลอีสาน บ้านเต่านอ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยเมรุลอยทำเป็นนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก สูงเทียบเท่าตึกสูง 5 ชั้น เน้นสีขาว สื่อถึงความเรียบง่าย สมถะสันโดษ สมเกียรติและความบริสุทธิ์แบบสถาปัตยกรรมอีสาน



แม้หลวงพ่อคูณ จะละสังขารไป 3 ปีกว่าแล้ว แต่ชื่อของท่านยังคงถูกพูดถึงไม่เสื่อมคลาย ด้วยเอกลักษณ์ของท่าน กอปรกับหลักธรรมคำสอนอันลึกซึ้งแบบตรงไปตรงมา จนผู้คนนำไปปฏิบัติและยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต รวมทั้งคุณงามความดีของท่านในการรังสรรค์สร้างถาวรวัตถุให้กับวัดวาอารามต่างๆ อีกทั้งสนับสนุนด้านสาธารณะโยชน์ การศึกษา รวมทั้งเป็นพระนักคิด พระนักเทศน์ ซึ่งชีวประวัติของท่านนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจมากมาย โดย "เดลินิวส์ออนไลน์" ขอย้อนประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เกิดจวบจนมรณภาพให้ได้ทราบอีกครั้ง



วัยเด็กของหลวงพ่อคูณ เกิดในครอบครัวชาวนา ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2466 (แต่บางตำราว่าวันที่ 4 ต.ค.) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน โดยเป็นบุตรชายคนโตของนายบุญ ฉัตรพลกรัง (บิดา) และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง (มารดา) โดยมีพี่น้อง 2 คน ได้แก่ นายคำมั่น แจ้งแสงใส และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์ โดยหลวงพ่อคูณ ได้เข้าเรียนหนังสือกับ พระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ซึ่งได้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน ตั้งแต่อายุประมาณ 6-7 ขวบ โดยได้ศึกษาภาษาไทยและขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังเมตตาสอนวิชาคาถาอาคมป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อคูณจึงมีความเชี่ยวชาญวิชาอาคมต่างๆ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก



เมื่ออายุครบ 21 ปีก็ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในวันที่ 5 พ.ค. 2487 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก (หนังสือบางแห่งระบุว่าเป็นปี 2486) โดยมีพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์ ก็คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ โดยหลังจากที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วได้รับฉายาว่า "ปริสุทโธ" และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์พระคณาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก





จากนั้นหลวงพ่อคูณก็ได้ตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย และอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร ก่อนที่หลวงพ่อแดงจะพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ "หลวงพ่อคง พุทธสโร" เนื่องจากทั้งสองรูปเป็นสหายธรรมที่มักมีการพบปะแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมต่างๆ แก่กันเสมอ จากนั้นหลวงพ่อคง ผู้ทรงคุณทั้งทางธรรม และทางไสยเวทย์ ก็ได้สอนวิชาต่างๆ ให้กับหลวงพ่อคูณ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพรางแต่อย่างใด กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า หลวงพ่อคูณมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป

โดยในช่วงแรกหลวงพ่อคูณก็ได้เดินธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา จากนั้นจึงได้มีการธุดงค์ไกลขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงป่าลึกประเทศลาว และประเทศกัมพูชา เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง เมื่อพิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณธุดงค์จากเขมร กลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ พร้อมกับเริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาต่างๆ โดยเริ่มสร้างอุโบสถในปี 2496 จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ จนสามารถสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ ปัจจุบันอุโบสถหลังดังกล่าวได้ถูกรื้อลงและก่อสร้างหลังใหม่แทนแล้ว นอกจากนี้หลวงพ่อคูณยังได้สร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคขึ้น เพื่อพัฒนาความเจริญของพื้นที่บ้านไร่ และตามมาด้วยการก่อสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง และโรงเรียนอื่นๆ อีกจำนวนมาก พร้อมทั้งยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณสุขต่างๆ อยู่เสมอ



ในช่วงวัยชราของหลวงพ่อคูณ ท่านมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลมาโดยตลอด โดยหลวงพ่อคูณเริ่มมีอาการอาพาธตั้งแต่ปี 2543 ด้วยโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจให้ท่าน จนอาการดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาวันที่ 25 ต.ค. 2547 ท่านมีอาการอาพาธอีกครั้งด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ต้องนำตัวส่ง รพ.ศิริราช กรุงเทพฯ ให้แพทย์ผ่าตัดสมองเพื่อเอาลิ่มเลือดออก จนอาการปลอดภัย จากนั้นวันที่ 26 เม.ย 2552 ท่านอาพาธด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้าและต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา หลายวัน จนกระทั่งอาการดีขึ้นและสามารถกลับวัดบ้านไร่ได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2552 หลังจากนั้นสุขภาพร่างกายของท่านก็อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง



เมื่อถึงวันที่ 4 พ.ค. 2554 ท่านก็มีอาการอาพาธด้วยวัณโรคปอด ต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา อีกกว่า 4 เดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2556 ท่านก็มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการแทรกคือ หลอดลมอักเสบรวมทั้งเกิดภาวะเสมหะลงคอ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อ คณะศิษย์ต้องนำตัวส่งรักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา จนกระทั่งอาการท่านเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ก่อนที่คณะแพทย์จะได้นำตัวหลวงพ่อคูณกลับวัดบ้านไร่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2556 เพื่อพักรักษาตัวอยู่ภายในห้องกระจกที่มีแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าเยี่ยมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งตลอดเวลาที่พักรักษาตัวก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อเวลา 05.40 น. ของวันที่ 15 พ.ค. 2558 ท่านมีอาการหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องนำตัวส่งมารักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา อีกครั้ง โดยคณะแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่อาจยื้อชีวิตได้ ท่านได้ละสังขารไปเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 16 พ.ค. 2558 สิริอายุ 92 ปี ยังความโศกเศร้าต่อศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ

นี่คือ ประวัติเส้นทางชีวิตและเส้นทางธรรมของ "หลวงพ่อคูณ" พระผู้ไม่หวังลาภยศเงินทอง อุทิศตัวเพื่อจรรโลงพระศาสนาอย่างแท้จริง และไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยชื่อของ "หลวงพ่อคูณ"จะถูกกล่าวขานมิลืมเลือน.