ย้อนประวัติศาสตร์กว่า60ปี ที่มากว่าจะมี'วันเด็กแห่งชาติ'
ข่าวประจำวัน
"วันเด็กแห่งชาติ" ประจำปี 2562 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ม.ค. 62 ให้กับเด็กๆ เยาวชนไทย เพื่อเป็นข้อคิดคติเตือนใจ กับอนาคตของชาติ นั่นก็คือ "เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ" ซึ่งหากย้อนกลับไป หลายๆคนคงจะคุ้นเคยกับ "วันเด็กแห่งชาติ" เป็นอย่างดี แต่จริงๆแล้ว วันเด็ก ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันที่หน่วยงานต่างๆมีกิจกรรมให้เด็กได้เล่น พร้อมเรียนรู้ด้านต่างๆเท่านั้น
หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2498 ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ สำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตาม "ร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก" ที่องค์การสหประชาชาติ ผลักดันและหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ โดยในประเทศไทยเอง ได้รับข้อเสนอของ "วี เอ็ม กุลกานี" ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่าประเทศไทย ควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กมากขึ้น ตามที่นานาประเทศส่งเสริมและผลักดัน
ทำให้ในวันที่ 3 ต.ค. 2498 ประเทศไทยได้จัดงาน "วันเด็กแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก" โดยราชการกำหนดจัดงานทุกวันจันทร์แรกในเดือนตุลาคมของทุกปี และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ. 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงาน มีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรเปลี่ยนวันจัดงานเสียใหม่ เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่าในเดือนตุลาคมประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝนมีฝนตกมาก เด็กๆไม่สะดวกในการมาร่วมงาน อีกทั้งวันจันทร์ยังเป็นวันทำงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาบุตรหลานไปร่วมงานได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2507 เปลี่ยนมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่งผลให้ ปี2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คู่กับวันเด็กแห่งชาติในทุกๆปี ก็คือ "คำขวัญวันเด็ก" จากนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำขวัญวันเด็กแห่งชาตินั้น มีขึ้นครั้งแรกในปี2499 ในสมัย "จอมพลแปลก พิบูลสงคราม" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า "จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม" หลังจากนั้นตั้งแต่2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กทุกปีจนถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน...