ข่าวย้อนรอยพลังทำลาย'เกย์-แฮเรียต' จนมาถึงพายุ'ปาบึก' - kachon.com

ย้อนรอยพลังทำลาย'เกย์-แฮเรียต' จนมาถึงพายุ'ปาบึก'
ข่าวประจำวัน

photodune-2043745-college-student-s

จากสถานการณ์ “พายุโซนร้อนปาบึก” ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยในขณะนี้ นับเป็นพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรงมากในไม่กี่ครั้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญ โดยเมื่อย้อนกลับไปในวันที่ 25 ต.ค. 2505 “พายุโซนร้อนแฮเรียต” ได้เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ที่ทำลายล้างแหลมตะลุมพุก ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง นอกชายฝั่งทะเลใกล้กับฟิลิปปินส์ ค่อยๆ เคลื่อนตัวช้าทางทิศตะวันตกและมีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ แต่กลับปรากฏว่า “พายุได้พัฒนากลายเป็นพายุดีเปรสชั่น” ในวันที่ 22 ต.ค. ขณะที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านแหลมญวน ประเทศเวียดนามตอนใต้ ความเร็วลมเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพัฒนากลายเป็นพายุโซนร้อน เมื่อพายุได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทย ทำให้ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พายุโซนร้อนแฮเรียต”


ภาพ : เส้นทางการเคลื่อนตัวพายุโซนร้อนแฮเรียต

เส้นทางพายุตรงไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ต.ค. ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์มเสิร์จ ในช่วงกลางดึก หลังจากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน เคลื่อนผ่าน จ.กระบี่ ภูเก็ต และพังงาลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ต.ค. โดยอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศในวันที่ 30 ต.ค. โดยก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้คนนับหมื่นไร้ที่อยู่อาศัย เพราะทั้งคลื่นและลมทำลายบ้านเรือนพินาศ อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 900 ราย สูญหายมากกว่าร้อยราย ทำให้ “พายุแฮเรียต” ได้รับการบันทึกว่าเป็นพายุที่ร้ายแรงกว่าพายุไต้ฝุ่นแวนด้าที่เกิดในเดือนกันยายนปีเดียวกัน


ภาพ : หลังเกิดพายุแฮเรียต

ถัดมาอีก 27 ปี ประเทศไทยต้องพบเจอกับความรุนแรงของพายุอีกลูก นั่นคือ “พายุไต้ฝุ่นเกย์” พายุไต้ฝุ่นที่ถูกจารึกว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดของคาบสมุทรมลายูรอบ 35 ปี(ในขณะนั้น) โดยในวันที่ 1 พ.ย. 2532 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงได้ก่อตัวขึ้นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ก่อนจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พัฒนากลายเป็นพายุโซนร้อน พร้อมกับได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พายุเกย์” แต่ต่อมาในวันที่ 3 พ.ย. พายุกลับเพิ่มกำลังความเร็วลมมากขึ้นจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 พัดอยู่ใจกลางอ่าวไทย ก่อนที่เช้าวันที่ 4 พ.ย. พายุไต้ฝุ่นเกย์ได้พัดขึ้นชายฝั่ง บริเวณช่วงรอยต่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ชุมพร ด้วยกำลังความเร็วลมถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจัดเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3


ภาพ : เส้นทางการเคลื่อนตัวพายุไต้ฝุ่นเกย์ 

อิทธิพลของ “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 537 คน สร้างความเสียหายให้กับ อ.เมือง, อ.บางสะพานน้อย, อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ท่าแซะ, อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซ้ำยังทำเรือขุดเจาะน้ำมันอับปางลงนอกชายฝั่งอ่าวไทย ส่งผลให้พายุไต้ฝุ่นเกย์ กลายเป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งประเทศไทย ด้วยความเร็วลมระดับพายุไต้ฝุ่น โดยหลังจากนั้นพายุลูกนี้ยังได้พัดข้ามอ่าวเบงกอล กลายเป็นพายุโซโคลนระดับ 5 ขึ้นถล่มชายฝั่งประเทศอินเดีย ก่อนจะสลายตัวไปบริเวณเทือกเขากัตส์ทางตะวันตกของอินเดีย


ภาพ : ความเสียหายที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ บริเวณชายฝั่ง จ.ชุมพร

ส่วนในปี2561 กับ “พายุโซนร้อนปาบึก” นั้น นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงความรุนแรงของพายุโซนร้อนปาบึก  (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทย ในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค.นี้ โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ประมาณ 15 จังหวัด ในช่วงวันระหว่างที่ 3-5 ม.ค. ซึ่งพายุลูกดังกล่าวจะมีรุนแรงเทียบเท่า “พายุแฮเรียต” ที่เคยถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505...


ขอบคุณภาพจาก @กรมอุตุนิยมวิทยา,@NASA,@เมืองคอน.com

ติดตามข่าว "พายุปาบึก" ได้ทั้งหมดที่นี่..คลิก